วัดห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐมในทางวิชาการนั้น การลงพื้นสี เช่น สีดำลงบนวัตถุที่สลักลายวัตถุนั้นจะเป็นสีทอง หรือสีเงิน ทางยุโรปเรียกกันว่า ทูลาซิลเวอร์ (Tula Silver) แต่ทูลาซิลเวอร์จะออกเป็นสีเขียวๆ คล้ายปีกแมลงทับหรือที่เราเรียก กันว่า "เมฆพัด" เมฆพัด เป็นส่วนผสมของโลหะ เช่นเดียวกับตัวยาถม ต่างกันที่เมฆพัดมีแต่ตะกั่วกับทองแดง ส่วนตัวยาถมมีตะกั่ว ทองแดง และเงิน ตามนัยนี้จึงมีบางท่านคิดว่า ไทยทำถมได้เอง โดยปรับปรุงขึ้นจากเมฆพัด ซึ่งมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เราจะพบว่า ถมที่เก่าที่สุดเป็นถมดำ ถมนี้จะเป็นศิลปะดั้งเดิมที่ไทยคิดขึ้นเอง หรือว่าได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศทางยุโรป ก็ยากที่จะหาหลักฐานได้
ส่วนคติความเชื่อในการสร้างวัตถุมงคลนั้น "เนื้อเมฆพัด" เป็นโลหะที่ได้จากการเล่นแร่แปรธาตุ ตามตำราของไทยโบราณเชื่อว่า เป็นธาตุกายสิทธิ์ มีฤทธานุภาพในตัวเอง เมฆพัดเป็นส่วนผสมของตะกั่ว และทองแดง มีกรรมวิธีการสร้างที่ซับซ้อน ในระหว่างหลอมต้องผสมตัวยาหลายชนิด มีกำมะถัน ปรอท และว่านยา ได้แก่ ไพลดำ ต้นหิงหาย ไม้โมกผา ขิงดำ กระชายดำ สบู่แดง สบู่เลือด เป็นต้น ซัดเข้าไปในเบ้าหลอม พอสำเร็จจะได้โลหะสีดำ เป็นมันเงาเลื่อมพราย แต่เปราะและแตกง่าย พระคณาจารย์แต่โบราณนิยมหลอมเมฆพัดมาทำเป็นพระเครื่อง
พระปิดตาเนื้อเมฆพัด มีการสร้างหลายวัดด้วยกันนั้น และมีการจัดเข้าเป็น ชุดเบญจภาคีพระปิดตาเนื้อเมฆพัด เหมือนกัน ได้แก่ ๑.พระปิดตาหลวงปู่นาค โชติโก วัดห้วยจระเข้ จ.นครปฐม ๒.พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง จ.ราชบุรี ๓.พระปิดตาหลวงพ่อปล้อง วัดหลุมดิน จ.ราชบุรี ๔.พระปิดตาหลวงปู่ทิม วัดบางปลา จ.นครปฐม และ ๕. พระปิดตาหลวงพ่อทา วัดพระเนียงแตก จังหวัดนครปฐม ในบรรดาพระปิดตาเนื้อเมฆพัดด้วยกันแล้ว แต่ไหนแต่ไรมาบรรดานักเลงพระเขายกให้ พระปิดตาเนื้อเมฆพัดหลวงปู่นาค วัดหัวยจรเข้ เป็นสุดยอดอันดับหนึ่งของพระปิดตาเนื้อเมฆพัดด้วยกันทั้งหมด สมัยก่อนพระปิดตาสำนักนี้มีชื่อเรียกติดปากกันว่า "พระปิดตาห้วยจระเข้" ถือว่าเป็นพระปิดตาที่มีประสบการณ์เยี่ยมยอดด้านคงกระพันกับมหาอุดเป็นที่สุด ส่วนทางเมตตามหานิยมกับโชคลาภ ก็ไม่เบาเหมือนกัน
จะเห็นได้ว่า พระปิดตาเนื้อเมฆพัดที่วงการนิยมกันสูงๆ จะเป็นพระปิดตาที่มีแหล่งกำเนิดในเขต จ.นครปฐม และจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งพระเนื้อเมฆพัดพิมพ์อื่นๆ ก็มักจะมีการสร้างโดยสำนักต่างๆ ที่อยู่ในละแวกนี้ด้วย หลวงปู่นาค สร้างพระปิดตามหาอุด เนื้อเมฆพัด เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๒ ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ และถือว่าเป็นพระปรมาจารย์เมืองนครปฐมในสมัยแรก เป็นต้นตำรับพระปิดตาเนื้อเมฆพัด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังสนามจันทร์ จะต้องเสด็จมาทรงแวะนมัสการหลวงปู่นาคเป็นประจำ และหลวงปู่นาคได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระปิดตาแด่สองพระองค์ไว้ทรงบูชาคู่พระวรกายด้วย
นอกจากนี้ หลวงปู่นาคยังเป็นพระเกจิอาจารย์ ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการสร้างเนื้อเมฆพัดมาก การผสมเนื้อแร่ต่างๆ การปั้นพิมพ์ และการเทหล่อองค์พระ ท่านทำด้วยตัวท่านเอง องค์พระที่ท่านหล่อออกมาสวยงาม ไม่มีรอยตะเข็บ ไม่เป็นฟองอากาศ เนื้อพระเป็นสีดำอมเขียว สีดำเงาคล้ายปีกแมลงทับ สวยงามพิสดาร เนื้อพระผิวตึงสมบูรณ์แบบด้านรูปทรงว่ากันว่า หลวงปู่นาค กับ หลวงปู่บุยวัดกลางบางแก้ว มีความสนิทสนมกันมากเป็นสหธรรมิกรุ่นน้อง และมีการแลกเปลี่ยนวิชาซึ่งกันและกันด้วย โดยหลวงปู่บุญขอเรียนวิชาการสร้างเนื้อเมฆพัดไปจากหลวงปู่นาค ส่วนหลวงปู่นาคได้ขอเรียนวิชาอื่นๆ จากหลวงปู่บุญ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กัน
เอกลักษณ์ของพระปิดตาห้วยจระเข้ นอกจากจะดูพิมพ์เป็นหลักแล้ว พระปิดตาห้วยจระเข้จะต้องมีการลง เหล็กจาร ทุกองค์ด้วย ในการลงเหล็กจารนั้น มีเรื่องเล่ากันว่า หลวงปู่นาคท่านนำเอาพระปิดตาที่สร้างเสร็จแล้วไปลงเหล็กจาร ที่ท่าน้ำข้างๆ วัด โดยท่านจะดำลงไปจารอักขระใต้น้ำ เมื่อจารเสร็จแล้วจะปล่อยให้พระปิดตาลอยขึ้นมาเหนือน้ำเอง โดยมีลูกศิษย์ที่อยู่บนฝั่งคอยเก็บ
ถ้าพระปิดตาองค์ไหนลงจารแล้วไม่ลอยน้ำขึ้นมา แสดงว่าพระปิดตาองค์นั้นไม่มีพลังพุทธคุณ อันอาจจะเกิดอักขระวิบัติ จากการจารอักขระก็ได้ จากพิธีกรรมการสร้างอันเข้มขลังนี้เอง จึงทำให้พระปิดตาวัดห้วยจระเข้เป็นจักรพรรดิของพระปิดตาเนื้อเมฆพัดทั้งปวง
ประวัติหลวงปู่นาค
ชาติภูมิของหลวงปู่นาคนั้น ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๘ (ร.ศ.๓๕) ตรงกับปีกุน จ.ศ.๑๑๗๗ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ อุปสมบทเมื่ออายุ ๒๑ ปี ณ พัทธสีมาวัดพระปฐมเจดีย์ ตรงกับ พ.ศ.๒๓๗๙ พระอุปัชฌาจารย์ไม่ปรากฏนาม ทราบแต่พระกรรมวาจาจารย์ คือ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระปฐมเจติยานุรักษ์ (หลวงปู่กล่ำ) เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ได้รับฉายา "โชติโก" หลวงปู่นาคได้เป็นผู้สร้างวัดห้วยจระเข้ร่วมกับประชาชน ปกครองวัดมานาน ๑๑ ปี ถึงกาลละสังขารเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ ด้วยโรคชรา รวมอายุได้ ๙๕ ปี ๗๔ พรรษา
พระครูปัจฉิมทิศบริหาร(หลวงปู่นาค) ปรมาจารย์ผู้สร้าง พระปิดตาเนื้อเมฆพัตร์ เป็นผู้สร้างวัดห้วยจระเข้ เมื่อปี พ.ศ.2441 (ก่อนหน้านั้นท่านยังจำพรรษาอยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์) เดิมวัดชื่อ "วัดนาคโชติการาม" ต่อมาปีพ.ศ. 2443 ได้เปลี่ยนเป็นชื่อ วัดใหม่ห้วยจระเข้ และวัดห้วยจระเข้ตามลำดับ และท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก หลวงปู่นาคท่านเป็นพระรูปร่างเล็ก บอบบาง ผอมเกร็ง ท่านมีชีวิตอยู่ประมาณปี พ.ศ. 2380 กว่า ถึง พ.ศ. 2453 อายุประมาณ 70 ปี เดิมทีเข้าใจว่าท่านอุปสมบทที่วัดพระปฐมเจดีย์ แต่ตามความจริงแล้วท่านเป็นพระธุดงค์ได้เดินธุดงค์มานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ เพราะมีความเชื่อว่าองค์พระปฐมเจดีย์มี พระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ ด้วยความศรัทธาต่อองค์พระปฐมเจดีย์ จึงได้จำพรรษาอยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์
พระครูอุตตรการบดี(สุข ปทุมสฺสวณฺโณ)
เมื่อหลวงพ่อสุข ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ 2 ของวัดห้วยจระเข้ต่อจากหลวงปู่นาค หลวงพ่อสุขถือกำเนิดที่ตำบลบางแขม อ.เมือง จ.นครปฐม เมื่อวันศุกร์ เดือน 9 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 25 สิงหาคม 2425 เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวน 7 คน ของ นายเทศ และนางทิพย์ มาเทศ เมื่ออายุ 11 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร อยู่ ณ วัดบางแขม อ.เมือง จ. นครปฐม จนอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบางแขม โดยมีหลวงพ่อคำ วัดหนองเสือ อ.เมือง จ.นครปฐม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสมถกิตติคุณ(หลวงพ่อหลั่น) วัดพระประโทนเจดีย์ และหลวงพ่อแก้ว วัดบางแขมเป็นคู่พระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วได้ย้ายมาศึกษาอักขรสมัย และพระธรรมวินัย วิปัสสนากรรมฐานและคันถธุระตลอดจนวิทยาคมต่างๆ กับหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ นอกจากนี้ ท่านยังได้ไปศึกษาเพิ่มเติมกับ หลวงพ่อคำ วัดหนองเสือ หลาวงพ่อคำ ผู้นี้ เป็นญาติผู้น้องของหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก หลวงพ่อคำท่านมีความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนากรรมฐาน และวิทยาคมต่างๆ จนสามารถยิงกระสุขคดได้ ระหว่างที่หลวงปู่คำมีชีวิตอยู่ ท่านได้แจกเหรียญหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตกรุ่น 2 ให้กับศิษย์ของท่าน หลวงปู่คำวัดหนองเสือ มรณภาพประมาณ พ.ศ. 2450 กว่า อายุประมาณ 80กว่าร่วม90 ปี ระหว่างงานพิธีศพ หลวงพ่อทาวัดพะเนียงแตก ได้มาเดินนำศพหลวงปู่คำ วัดหนองเสือหลวงพ่อสุขท่านมรณภาพปี 2494
หลวงพ่อสุข เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ท่านได้บริหารปกครองและพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น ตามลำดับ ทั้งในด้านการศึกษา การเผยแพร่พระพุทธศาสนา และการบูรณะปฏิสังขรวัด และขยายเนื้อที่วัดให้มากขึ้นโดยการซื้อที่ดินเข้าวัดอย่างมากมาย
หลวงพ่อสุขท่านเป็นพระอาจารย์ที่มีวิทยาคมแก่กล้าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหลวงปู่นาค และหลวงพ่อคำซึ่งเป็นอาจารย์ของท่าน ดังนั้น ในพิธีพุทธาภิเษก ท่านมักจะได้รับการนิมนต์เสมอๆ เช่น พิธีพุทธาภิเษกพระคันธาราช วัดพระปฐมเจดีย์ พ.ศ.2476 และพิธีพุทธาภิเษก พระร่วงใบมะยม ของวัดพระปฐมเจดีย์ พ.ศ.2484,พ.ศ. 2485 และพ.ศ.2487 ตามลำดับ
หลวงพ่อสุข ท่านเป็นพระที่แก่กล้าในวิทยาคมดังได้กล่าวมาแล้ว แม้แต่หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้องก็ยอมรับในความแก่กล้าในวิทยาคมของท่าน มีอยู่ครั้งหนึ่งหลวงพ่อแช่มวัดตาก้องกับหลวงพ่อสุข ได้ทดสอบวิชาย่นระยะทางว่าใครจะถึงพิธีพุทธาภิเษกที่วัดพระปฐมเจดีย์ก่อนกัน ปรากฏว่าหลวงพ่อสุขถึงวัดพระปฐมเจดีย์ก่อน (โปรดใช้พิจารณาในการอ่าน)
ด้วยกิตติศัพท์ความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนากรรมฐานและคันถธุระ และความรอบรู้ในด้านวิทยาคมต่างๆ จึงมีผู้มาขอฝากตัวเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาวิทยาคมที่เด่นๆ ได้แก่ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หลวงพ่อยิ้ว วัดบางแขมต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ประจำทิศองค์พระปฐมเจดีย์ ที่พระครูอุตตรการบดี(ยิ้ว) หลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม หลวงพ่อเต้า วัดเกาะวังไทย หลวงพ่อพูน วัดไผ่ล้อม หลวงพ่อเล็ก วัดหนองสีดา โดยเฉพาะหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ได้มาขอเรียน นะทรหดหรือนะคงกะพัน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2480
หลวงพ่อสุข ท่านได้สร้างวัตถุมงคลจำนวนน้อยมาก วัตถุมงคลที่เป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป คือ เหรียญปั้มรูปเหมือนรุ่นแรก และเป็นเหรียญรุ่นเดียวที่สร้างในขณะที่หลวงพ่อสุขยังมีชีวิตอยู่ เป็นเหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อสุขครึ่งองค์ มีอักษรรอบเหรียญว่า "พระครูอุตตรการบดี สุก ปทุมสฺสวณฺโณ" ด้านหลังเขียนว่า วัดห้วยจรเข้ ด้านหลังของเหรียญมีอยู่สองพิมพ์ คือ พิมพ์อุหางสั้น และอุหางยาวเหรียญรุ่นแรกนี้ นักสะสมพระทั่วไปเรียกว่า เหรียญคอสั้น เหรียญรุ่นแรกเข้าใจว่าหลวงพ่อสุขสร้างหลังจากได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรประจำทิศองค์พระปฐมเจดีย์ ที่พระครูอุตตรการบดี เมื่อประมาณ พ.ศ. 2469 ต่อจากหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว เหรียญรุ่นแรกนี้จะเรียกว่าเหรียญรุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ก็ได้ มีสองเนื้อ คือ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง