|
พระบูชาหลวงปู่หลวง กตปุญโญ วัดป่าสำราญนิวาส รุ่นธรรมศาสตร์ ข นาด 5 นิ้ว หายาก สร้างน้อย.
หลวงปู่หลวง กตปุญโญ
วัดคีรีสุบรรพต
ต.พระบาท อ.เกาะคา จ.ลำปาง
โพสท์ในเวบ ลานธรรมจักร » ประวัติและปฏิปทาของครูบาอาจารย์ โดยคุณ วีรยุทธ เมื่อ 29 มิ.ย. 2007
๒
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
ท่านพ่อลี ธัมมธโร
วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ
ในสมัยที่เพิ่งเริ่มสร้างวัดถ้ำพระสบายขึ้นใหม่ๆ ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ศิษย์รุ่นใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่น จากวัดอโศการาม ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ (ชาวบ้านนิยมเรียกท่านว่า ท่านพ่อลี จนติดปาก ทั้งนี้เนื่องจากระยะหนึ่งในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ขณะนั้นท่านอายุได้ประมาณ ๔๖ ปี ๒๕ พรรษา ได้ธุดงค์ล่องใต้ไปเผยแผ่ธรรมในหลายจังหวัดจนเป็นที่รู้จักกันดีและเป็นที่เคารพนับถือของศรัทธาชาวบ้านคนใต้จำนวนมาก คนทางนั้นนิยมเรียกพระที่พวกเขาเคารพนับถือว่า ท่านพ่อ อย่างเช่น ท่านพ่อคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดธาตุน้อย (จันดี) จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น)
ท่านพ่อลีก็ได้แวะเวียนมาพักอยู่บ่อยๆ แต่ไม่เคยจำพรรษาที่นี่ ท่านได้สร้างกฏิของท่านเองไว้ที่ปากถ้ำบนกลางดอยมองเห็นได้แต่ไกล ท่านพ่อลีชอบไปพักปฏิบัติที่นั่นมาก เพราะอากาศปลอดโปร่งเย็นสบายดี ทั้งยังได้ร่วมสร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่ทำด้วยไม้ไว้ที่ลานด้านล่างคู่กับหอระฆัง กับวิหารสุทธิธรรมรังษีไว้หน้าปากถ้ำ ไว้สำหรับใช้จัดงานบุญสำคัญอีกด้วย
ภายในถ้ำใหญ่ ซึ่งมีค้างคาวเยอะ วันหนึ่งท่านพ่อลีได้ไปนั่งสมาธิภาวนาอยู่ภายในถ้ำ ได้เกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้ท่านต้องยอมรับในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ ในขณะที่ท่านกำลังนั่งสมาธิอยู่ ได้เกิดมีพระธาตุเสด็จมาปรากฏอยู่รอบๆ ตัวท่านจำนวนมากจนเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ ท่านพ่อลีจึงได้พิจารณาสร้างพระเจดีย์ปูนปั้นขนาดสูงราว ๖ วา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเหล่านั้น และของมีค่าเพื่อบูชาพระธาตุไว้ภายใน เพราะในถ้ำนี้เป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์เคยมีพระธุดงค์มาปฏิบัติธรรม จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์มาก่อน ท่านจึงได้ทำการบูรณะถ้ำ และสร้างพระพุทธรูปกับพระเจดีย์ ไว้เป็นที่สักการะ
จึงถือว่าท่านพ่อลีมีความเกี่ยวข้องกับสถานที่ทั้งสองแห่งทั้งมีส่วนร่วมสร้างร่วมพัฒนาบูรณะสถานที่ คือทั้งที่วัดป่าสำราญนิวาสและที่ถ้ำพระสบาย
เปรตวัดป่า
ตั้งแต่ที่มีพระสงฆ์ในสายวิปัสสนากรรมฐานมาพักปฏิบัติทั้งที่วัดป่าสำราญนิวาสและที่ถ้ำพระสบาย พวกเทพเทวดาเขาพากันโมทนายินดีชื่นชอบ ที่มีพระที่ปฏิบัติปฏิบัติชอบมาอยู่ เพราะพวกเขาได้รับกระแสเย็นแห่งความเมตตาที่พวกท่านเหล่านั้นได้อุทิศแผ่ให้เป็นประจำ ทั้งยังได้ฟังธรรมจากพระอริยเจ้าอีกด้วย แม้แต่พวกวิญาณสัมภเวสีและเปรตต่างๆ ทั้งหลวงปู่สิม หลวงปู่แว่น ท่านพ่อลี และหลวงปู่หลวงก็ได้ช่วยโปรด โดยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลและแผ่เมตตาให้ จนสามารถปลดปล่อยพวกนั้นไปได้มาก
คราวหนึ่ง หลวงปู่หลวงได้กลับจากการเดินธุดงค์ทางภาคเหนือ โดยได้แยกทางจากหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ซึ่งแยกไปพักจำพรรษาที่วัดป่าสามัคคี อ.แม่แตง (ปัจจุบันคือวัดป่าอาจารย์ตื้อ) ท่านกลับมาพร้อมกับอาจารย์น้อย สุภโร เพื่อมาช่วยหลวงปู่แว่นสร้างวัดป่าสำราญนิวาส โดยได้ไปพักปักกลดอยู่ในป่าช้าห่างกันพอประมาณ พอตกค่ำเมื่อได้ทำวัตรสวดมนต์กันแล้ว ต่างคนก็ต่างเข้าที่ภาวนาอยู่แต่ในกลดของตน ครั้นตกดึกก็ได้ออกจากกลดเพื่อมาเดินจงกรมเปลี่ยนอิริยาบถ
คืนนั้น เมื่อหลวงปู่หลวงเดินจงกรมเสร็จแล้ว ก็จะเดินกลับเข้าพักในกลด ได้เหลือบมองไปยังกลดของหลวงปู่แว่นซึ่งปักกลดอยู่ในป่าช้าเช่นกัน ก็ได้เห็นแสงสว่างเรืองรองเรียงรายอยู่โดยรอบกลดของหลวงปู่แว่น มองดูคล้ายกับว่ามีคนจำนวนมากมาจุดตะเกียงคนละดวงนั่งรายล้อมเพื่อฟังธรรมอยู่ในขณะนั้น แต่พอมองดูดีๆ ก็ไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่างคน ก็คิดจะเดินไปดูใกล้ๆ ด้วยสงสัยว่าชาวบ้านพากันมาทำอะไรกันดึกๆ หรือจะมาฟังธรรมก็ไม่ใช่เวลาที่ควร
พอท่านก้าวเดินเข้าไปได้หน่อย แต่แล้วก็ต้องชะงักหยุดอยู่กับที่ด้วยเห็นว่าหลวงปู่แว่นท่านกำลังนั่งสมาธิสงบเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางดวงไฟแสงเรืองๆ ที่สว่างอยู่รายรอบแต่มองไม่เห็นใคร ท่านก็รู้ได้ทันทีว่า หลวงปู่แว่นท่านกำลังแสดงธรรมโปรดพวกเทพยดาโดยทางสมาธิจิตอยู่นั่นเอง ท่านจึงไม่กล้าเข้าไปรบกวนด้วยกลัวว่าจะทำลายสมาธิการฟังธรรมของพวกเทพยดาเหล่านั้นนั่นเอง
อีกพวกหนึ่ง ซึ่งมักจะมาปรากฏหรือแสดงให้รับรู้ว่าพวกเขาต้องการการช่วยเหลือก็คือ พวกสัมภเวสีต่างๆ หลวงปู่หลวงท่านว่า ครั้งแรกๆ ที่มาอยู่วัดป่าสำราญนิวาส จะมีพวกวิญญาณมาขอส่วนบุญเยอะ โดยเฉพาะพวกเปรต ท่านได้โปรดช่วยไปเยอะ ท่านว่า "ภาคเหนือเปรตหลายที่สุด" ปัจจุบันคงมีอยู่ไม่มาก ที่พ้นทุกข์ หลุดจากภพภูมิที่เคยเป็นอยู่ ได้ไปเกิดตามกำลังบุญของตนก็มาก แต่ก็ได้มีพวกใหม่มาทดแทน เพราะรู้ว่าหลวงปู่ สามารถช่วยพวกเขาได้
ที่ถ้ำพระสบายก็มีพวกเทพยดามาก แม้แต่พวกที่มีความเป็นอยู่ในโลกทิพย์เช่นพวกลับแล บังบด ยักษ์และนาค ก็มีที่อยู่เป็นแดนเป็นสัดส่วนไป ล้วนแต่เป็นพวกสัมมาทิฐิไม่ทำร้ายผู้ใด ใครที่มีสัมผัสพิเศษ หรือได้ญาณทิพย์ก็จะรับรู้และเห็นพวกนี้ได้ บางครั้งพวกเขายังแอบแฝงมาทำบุญปะปนกับชาวบ้านก็มี
ซึ่งแตกต่างจากช่วงแรกๆ ที่หลวงปู่แว่นท่านไปริเริ่มสร้างวัดที่นั่น ตอนนั้นพวกเขาคิดว่าท่านจะมาเอาสมบัติ จึงหวงแหนและทำการขัดขวางแกล้งทำให้กลัว แต่เมื่อท่านได้ทำการแผ่เมตตาและเจรจาบอกกล่าวให้เข้าใจ พวกเขาจึงยอมและไม่เคยเกิดเรื่องราวใดๆ ขึ้นอีกเลย มีแต่จะขออนุโมทนายินดีรับส่วนบุญ เพราะกระแสแห่งเมตตาธรรมของพระที่ปฏิบัติกรรมฐานที่อุทิศแผ่ไปให้
ชดใช้กรรม
งานพัฒนาวัดถ้ำพระสบาย พระหลวงในขณะนั้นได้ช่วยทำอย่างเต็มกำลังดังได้กล่าวมาแล้ว ตั้งแต่งานทำกุฏิพระ ทำทางขึ้นถ้ำและสร้างเสนาสนะอื่นๆ ในสมัยก่อนยังไม่มีเครื่องมือ เครื่องใช้ทันสมัยอย่างเดี๋ยวนี้ ต้องใช้เครื่องมือและเครื่องทุ่นแรงเท่าที่จะหาได้ ใช้ค้อนปอนด์ทุบก้อนหินให้แตกบ้าง บางงานก็ต้องใช้ชะแลงงัดก้อนหิน ต้องใช้กำลังแรงของพระเณรที่มีอยู่ทุกรูปช่วยกันทำงาน แรงงานชาวบ้านก็มีมาช่วยบ้างไม่กี่คน เพราะต่างต้องทำมาหากินทำงานเลี้ยงชีพตนเอง ทางวัดก็ไม่มีเงินจะไปจ้างเป็นค่าแรงงานเขา งานส่วนใหญ่จึงต้องทำกันเอง ใครไม่เป็นงานก็ได้เป็นได้ทำกันคราวนี้
ครั้งหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่หลวงกำลังช่วยพระเณรใช้ชะแลงงัดก้อนหินก้อนใหญ่อยู่นั้น ก้อนหินเจ้ากรรมเกิดแตกออก ทำให้ชะแลงดีดตีเข้าที่หน้าอกของท่าน ทำเอาท่านเจ็บปวดเป็นอย่างมากที่หน้าอก รู้สึกแน่นและอึดอัดหน้าอก จนในที่สุดได้อาเจียนออกมาเป็นเลือดและมีไข้ขึ้น ท่านเล่าว่าได้รู้สึกเจ็บที่หน้าอกอยู่ถึง ๓ ปี ทรมานมาก ไข้เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง จับไข้ไม่แน่นอน ไม่เป็นเวลา เนื่องจากต้องเดินบิณฑบาตลงดอยมา ไข้ก็ขึ้นจนหมดแรงแทบจะเดินไม่ไหว บางขณะกำลังฉันภัตตาหาร ก็เกิดมีไข้ขึ้นจนรู้สึกไม่อยากฉันอะไร
อยู่มาวันหนึ่งเพราะมีอาการดั่งเช่นที่ว่านี้ หลวงปู่หลวงรู้สึกเบื่อหน่ายในร่างกาย ที่ต้องทนทุกขเวทนาอยู่เป็นประจำ จึงคิดที่จะทำลายชีวิตตนเองโดยการโดดลงเหวลงหน้าผาให้ตายไปเลย จะได้ไม่ต้องทนอยู่รับกรรมทนทุกข์ทรมานทรกรรมต่อไป เพียงแต่ท่านคิดดำริอยู่ในใจ พลันก็ได้ยินเสียงผู้ใดก็ไม่รู้ ท่านว่าคงเป็นเทวดาที่มากระซิบบอกที่ข้างหูว่า "โอ้ ฆ่าตัวตายนี่ตกนรก ๕๐๐ ชาติ เน้อ" หลวงปู่หลวงพอได้ยินเสียงนั้นท่านก็มีสติระลึกได้ เกิดความรู้สึกนึกถึง บาป บุญ คุณ โทษ มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปขึ้นมาทันที
ท่านได้มาคิดทบทวนพิจารณาถึงผลของอกุศลกรรมและกุศลกรรม ที่คนเรากระทำอยู่ทุกวัน ตามปกติหากเป็นคนธรรมดาย่อมเกิดมีทั้งกุศลและอกุศล คละเคล้ากันไป กรรมต่างๆ นั้น ย่อมให้ผลและส่งผลได้ จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากการกระทำของตัวเราเอง
กว่าเราจะเกิดมาเป็นคนนั้นยากแสนยาก ไม่ใช่ง่าย ยิ่งเกิดมาแล้วได้พบพระพุทธศาสนา ได้พบพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือพระสุปฏิปันโนนั้นก็ยาก ครูบาอาจารย์ที่ดีเราก็ได้พบแล้ว เราเองได้บวชได้เรียนมาแล้ว ย่อมน่าจะรู้ถึงเรื่องกฎแห่งกรรมดีกว่าชาวบ้าน ตัวเราเคยให้คำอบรมสอนสั่งและชี้แนะให้ศรัทธาชาวบ้านเขาทำแต่ความดี รู้จักรักษาศีลและภาวนา แล้วเรามาทำผิดเสียเอง ทำลายศีลโดยการฆ่าตัวตาย แถมยังยังไม่รู้จักภาวนาให้พ้นทุกข์ ซึ่งเกิดขึ้นกับสังขารร่างกายของเราเอง ก็เหมือนกับตัวเรานั้นไม่รู้จริง แล้วจะสอนใครคนอื่นได้อย่างไร
ท่านพิจารณาเห็นว่า ร่างกายตัวเรานั้นมันก็เป็นก้อนทุกข์อันหนึ่ง ถ้าไม่เห็นทุกข์อันเกิดในกายในใจเราเอง พระท่านว่าไม่เห็นธรรมไม่เห็นโทษของการเกิด การแก่ การเจ็บและการตาย นี่เราเห็นทุกข์ ของสังขารอย่างชัดแจ้งอย่างนี้แล้วนี่ มันเป็นทุกข์อย่างนี้ๆ
การฆ่าตัวตายใช่ว่าจะเป็นหนทางที่จะหนีพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิงได้ เป็นการหนีเพียงชั่วคราวแล้วก็ต้องกลับมาชดใช้หนี้เวรหนี้กรรมอีก ถ้าไม่ใช่ในนรกก็ทั้งสภาพที่เป็นคนหรืออาจในรูปของสัตว์เดรัจฉานก็ได้ กรรมมันติดตามได้ทุกขณะ ทุกหนทุกแห่งเราทำกรรมอันใดไว้ ก็ต้องรับผลแห่งกรรมนั้นๆ จะช้าหรือเร็วเท่านั้น กว่าเราจะสร้างสมบารมีมาได้ จนมีโอกาสได้บวชในพระศาสนาก็ต้องทำกุศลคุณงามความดีมาไม่รู้ว่ากี่ภพกี่ชาติ ต้องทำเรื่อยมาแล้วเราจะมาทำลายชีวิตตนเองโดยที่เรายังไม่ทันได้เห็นธรรมหรือบรรลุธรรมที่แท้จริง มิเสียเวลาเสียโอกาสเปล่าหรือ เกิดมาได้บวชเรียนแล้วเสียชาติเกิดเป็นแน่แท้ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
เมื่อมีสติคิดได้ดังเช่นนี้ ตั้งแต่นั้นมาหลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ ก็ไม่เคยคิดสั้นทำลายชีวิตตนเองอีกเลย กลับมีความอดทน เข้มแข็งต่อเวทนาหรือทุกข์ที่มันเกิดขึ้น ท่านจะไม่ปริปากบ่นให้ใครได้ยินแม้ในปัจจุบัน หากมีใครไปถามท่านว่า ท่านหายเจ็บปวดที่หน้าอกหรือยัง ท่านก็จะตอบตรงๆ ว่า "ยัง มันจะเจ็บก็เรื่องของสังขารร่างกายเขา เราไม่เจ็บด้วย" แสดงว่าอาการเจ็บหน้าอกของท่านไม่ได้หายขาดไปเลย แต่ท่านไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อนไปกับมัน ท่านได้พยายามทำความเพียร "ต่อสู้กับเวทนาอย่างไม่ย่อท้อ"
ทางญาติโยมเองเมื่อรู้ว่าท่านเจ็บป่วยอย่างไร ต่างก็พยายามหาหนทางที่จะรักษาให้หายขาด แต่ผลของการรักษาไม่ว่าวิธีใดๆ คงเพียงทำให้ท่านมีอาการทุเลาดีขึ้นบ้างเท่านั้น แต่ไม่หายขาด มีอาการเจ็บที่หน้าอกเหลืออยู่บ้าง "เช่นเดียวกับอาการเจ็บปวดหลังของท่านที่เคยเป็น" หลวงปู่หลวงท่านบอกว่ามันเป็นกรรมเก่าเพราะท่านระลึกขึ้นได้ว่า ครั้งหนึ่งท่านเคยใช้มีดดาบฟันหลังสุนัขจนมันตายโดยไม่ได้ตั้งใจ ตอนนั้นท่านมีเจตนาแต่เพียงต้องการตีด้วยสันดาบเพื่อเป็นการลงโทษและสั่งสอนมันเท่านั้น ไม่ได้คิดทำร้ายมันจนตาย แต่ด้วยความเผลอ คิดว่าหยิบมีดดาบถูกทางแล้ว คิดว่าเป็นด้านสันดาบซึ่งไม่คมและใช้ตีมันแต่กลับกลายเป็นว่าได้เอาด้านคมมีดดาบตี หรือฟันถูกกลางหลังสุนัขตัวนั้นจนตาย หลวงปู่ท่านต้องทำบุญอุทิศและแผ่เมตตาให้อยู่หลายปี จึงรู้สึกดีและหายไปในที่สุด นี่เรื่องของกรรม
อุบายธรรมของครูบาอาจารย์
หลังจากที่มีโอกาสได้พบได้ยินได้เห็นปฏิปทาและคำสอนของครูบาอาจารย์ท่านต่างๆ มาพอสมควร หลวงปู่หลวงก็สังเกตเห็นว่าครูบาอาจารย์แต่ละท่านย่อมมีนิสัยและจริยาที่แตกต่างกันไปต่างมีอุบายธรรมแม้ในเรื่องเดียวกัน ปัญหาเดียวกัน ท่านเหล่านั้นกลับมีอุบายวิธีแก้ไขที่ไม่เหมือนกันบ้าง คล้ายๆ กันบ้าง ทั้งนี้เป็นเพราะคนเรามีจริตนิสัยและพื้นเพที่มาแตกต่างกัน อีกทั้งยังมีเรื่องของหนทางวิธีประกอบด้วยปัญญาของแต่ละคนไม่เท่ากัน
ช่วงเวลาที่หลวงปู่หลวงได้อยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำพระสบาย ก็ได้มีโอกาสได้ใกล้ชิดอยู่ปรนนิบัติรับใช้ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ซึ่งเป็นศิษย์สำคัญองค์หนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตมหาเถระซึ่งได้แวะเวียนมาพำนักปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพระสบายอยู่บ่อยๆ จึงพอคุ้นและได้เห็นปฏิปทาและอุบายธรรมที่ได้ถ่ายทอดแสดงออกมาเพื่อเกื้อกูลต่อพระปฏิบัติด้วยกัน
พอนำมาเปรียบเทียบกับครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ อย่างหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร แล้วก็ได้พบความแตกต่างหลังจากที่ได้ทดลองปฏิบัติตามอุบายธรรมของท่านทั้งสองจนเกิดผลแล้ว ท่านเปรียบให้ฟังว่า อุบายธรรมของหลวงปู่สิม พาให้จิตสงบ เกิดสมาธิได้เร็ว จนได้รับการยกย่องรับรองจากท่านพระอาจารย์มั่นว่า ท่านสิมนั้นเป็นผู้ทรงคุณ มีปัญญาเลิศ ท่านนำพาหมู่คณะรอดแล้ว แต่อุบายธรรมของท่านพ่อลี พาให้จิตสงบและเกิดปัญญาด้วย ท่านพ่อมีทั้งฤทธิ์ทั้งเดช ทั้งแนะทั้งนำในเรื่องของธรรมปฏิบัติ
ท่านพ่อลีมักจะพูดว่า
"ตัวเราไม่มีดีอะไร รูปก็ไม่สวย เสียงก็ไม่เพราะ มีดีอย่างเดียวคือเมตตาคน"
ซึ่งหลวงปู่หลวงได้จดจำและนำคำพูดนั้นมาถ่ายทอดสอนแก่ศรัทธาญาติโยม ได้เก็บนำไปคิดเป็นข้อเตือนใจ ส่วนใครจะน้อมนำไปใช้จนเกิดประโยชน์หรือปัญญาก็แล้วแต่ความคิดและวาสนาของแต่ละคน
ส่วนตัวหลวงปู่เองนั้น ท่านเคยปรารภว่า "ท่านปรารถนามหาสติ มหาปัญญา" จึงได้พยายามศึกษาและเรียนรู้ในทุกๆ เรื่องที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์และนำไปใช้ได้ ได้เพียรพยายามปฏิบัติกรรมฐานภาวนาและฝึกฝนตนเองจนเกิดเป็นมหาสติ มีความรอบรู้ และความทรงจำดีมากแม้ในวัยชราภาพ
ช่วยงานท่านพ่อลี
พอได้เวลาออกพรรษา หลวงปู่หลวงทีแรกได้ตั้งใจว่าจะเที่ยวเดินรุกขมูลต่อไปในที่ต่างๆ โดยจะไปพักอยู่ตามป่าช้า แห่งละไม่นานวันนัก แค่ ๗ วัน แล้วก็เปลี่ยนที่เรื่อยไป จะได้ไม่ติดที่ติดโยมหรือสบายเกินไป การเปลี่ยนที่ภาวนาอยู่เสมอ ช่วยทำให้มีความตื่นตัวด้วยความแปลกและยังไม่ทันชินต่อสถานที่ แม้ในยามจาก พวกญาติโยมที่มาทำบุญด้วยก็ยังไม่ทันคุ้นเคยทำให้เกิดความผูกพันจนเกินไป ทำให้ง่ายต่อการเดินทางและการปฏิบัติอีกด้วย ไม่ยุ่งยากดี
แต่พอทำเข้าจริงๆ ก็ทำได้แต่เพียงไปพักที่ป่าช้าบ้านค้อเพียงแห่งเดียว ก็พอดีคุณนายกิมเหรียญ กิ่งเทียน ศรัทธาทาง อ.เกาะคา ได้ตามมาพบและได้นิมนต์ท่านให้ไปช่วยสร้างอุโบสถและกำแพงที่วัดป่าสำราญนิวาส จ.ลำปาง หลวงปู่หลวงจึงต้องเดินทางกลับไปช่วยงานดังกล่าวอยู่ระยะหนึ่ง ก็ได้ข่าวว่าท่านพ่อลี ธมฺมธโร แห่งวัดอโศการาม ได้จัดงานใหญ่ ฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษ ที่พระพุทธศาสนามีอายุครบ ๒,๕๐๐ ปี โดยจัดให้มีขึ้นนานถึง ๑๙ วัน ที่วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ หลวงปู่หลวง จึงได้ตั้งใจว่าจะไปร่วมช่วยงานดังกล่าว ซึ่งในงานนี้มีพระเถรานุเถระในสายวิปัสสนาหลายรูปไปร่วมงานด้วย อาทิเช่น หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ก็ได้เดินทางล่วงหน้าไปร่วมงานนี้ก่อนแล้ว
(ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นี้อันเป็นปีที่พระพุทธศาสนาได้เกิดมีขึ้นในโลกนี่ครบ ๒,๕๐๐ ปี ชาวพุทธทั่วโลกจึงถือเป็นวาระโอกาสที่สำคัญ ได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลองกันเป็นงานใหญ่ ทางรัฐบาลไทยเองก็แลเห็นความสำคัญของวาระนี้เช่นกัน จึงได้จัดงานสมโภชเป็นการใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ และอีกหลายที่ เพราะถือว่าเป็นช่วงเวลากึ่งพุทธกาลที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดม ได้ทรงมีพุทธพยากรณ์ไว้ว่า พระศาสนาของพระองค์จะมีอายุยาวนานประมาณ ๕,๐๐๐ ปี ช่วงเวลานั้นอายุของพระพุทธศาสนาได้ผ่านมาครึ่งหนึ่งแล้ว)
กลับสู่ลำปาง
เมื่องานสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษผ่านพ้นไปแล้วบรรดาพระเถรานุเถระต่างได้ทยอยกันแยกย้ายกลับสู่วัดที่มา ส่วนตัวหลวงปู่เองก็ได้เดินทางกลับมาทางภาคเหนือเพื่อแสวงหาสถานที่อันเหมาะสมในการบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป ครั้นพอใกล้เข้าพรรษาก็ได้ตัดสินใจอยู่จำพรรษาที่วัดป่าสามัคคี อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากถ้ำพระสบายมากนัก คือในเขต อ.แม่ทะ นั่นเอง (ปัจจุบันได้กลายเป็นวัดบ้าน ทางสายมหานิกายไปแล้ว) นับเป็นพรรษาที่ ๙
แต่ช่วงก่อนจะเข้าพรรษา ท่านพ่อลีได้จัดงานฉลองพระธาตุเจดีย์ ซึ่งท่านได้ร่วมกับศรัทธาชาวบ้านช่วยกันสร้างขึ้นภายในถ้ำพระสบายนี่เอง โดยท่านพ่อลีได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุและพระบรมธาตุที่ท่านได้มา มาบรรจุไว้ในเจดีย์องค์นี้ เพื่อเป็นที่สักการะของศรัทธาชาวพุทธทั่วไป หลวงปู่หลวงได้มาร่วมงานฉลองพระธาตุเจดีย์ครั้งนี้ด้วย ซึ่งตรงกับวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ และได้ยึดเอาเป็นประเพณีในการจัดงานทำบุญฉลองพระธาตุเจดีย์ที่ถ้ำพระสบายในวันนี้เรื่อยมาจนทุกวันนี้ แม้ในวันพระธรรมดา คือวันพระขึ้น ๘ ค่ำ และขึ้น ๑๕ ค่ำ ก็จะมีชาวบ้านไปปฏิบัติธรรมและทำการสักการบูชามิได้ขาด
นิมิตมหัศจรรย์แห่งการสร้างอุโบสถ
หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ ได้กลับมาพัฒนาวัดป่าสำราญนิวาสอย่างจริงจังในช่วงพรรษาที่ ๑๐ คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นต้นมา หลังจากที่ท่านได้ออกจาริกธุดงค์แสวงหาโมกขธรรมในหลายท้องที่หลายแห่งอย่างจริงจังอยู่ระยะหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ท่านก็คิดจะกลับมาจำพรรษาที่วัดป่าสำราญนิวาสอย่างเดิม เพราะหลวงปู่แว่นท่านได้เคยฝากให้หลวงปู่หลวงช่วยเป็นธุระดูแล ทั้งสองวัด คือทั้งที่วัดป่าสำราญนิวาสและที่วัดถ้ำพระสบาย
วัดป่าสำราญนิวาสได้รับการยกฐานะให้เป็นวัดอย่างถูกต้องสมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๙๖ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ แต่ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ก็ได้ทำการวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอุโบสถ โดยคณะศรัทธาได้เห็นพ้องต้องกันว่า ให้กำหนดสถานที่ก่อสร้างไว้ตรงบริเวณข้างกุฏิหลวงปู่หลังเก่าที่โยมอุบล บริราชได้สร้างถวาย (ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนที่กลางวัดในปัจจุบัน) และได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เรียบร้อยแล้ว
พอวันถัดมา ได้เกิดเหตุนิมิตอัศจรรย์ ปรากฏมีแสงสว่างไสวพร้อมกับมีรอยเท้าซึ่งเข้าใจว่าเป็นรอยเท้าของพระอริยะมีขนาดยาวประมาณ ๑ ศอก อยู่ตรงบริเวณมุขซ้ายมือด้านข้างหน้า (เมื่อหันหน้าเข้าอุโบสถ) ของอุโบสถหลังปัจจุบัน ปรากฏการณ์นี้ได้เกิดให้เห็นอยู่รวม ๓ วัน เป็นที่อัศจรรย์ใจของทุกคน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางคณะสงฆ์และหมู่คณะศรัทธาญาติโยมได้ประชุมกันอีกครั้ง เห็นสมควรว่าน่าจะเปลี่ยนสถานที่สร้างอุโบสถจากที่กำหนดไว้เดิม เป็นบริเวณที่มีปรากฏการณ์อัศจรรย์นิมิตนั้นเกิดขึ้น ถือว่าเป็นนิมิตดีที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้มาเนรมิตบอกเป็นนัยใหม่จึงได้ทำการก่อสร้างอุโบสถขึ้นมาตรงสถานที่แห่งนั้น
ตัวอุโบสถมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก ด้วยความจำเป็นของสภาวะเศรษฐกิจในยุคนั้น โดยมีศรัทธาเจ้าแม่บัวหอม อิศรางกูร ณ อยุธยา พร้อมญาติมิตรเป็นหลักกำลังสำคัญ
ตัวอุโบสถมีขนาดเล็กทั้งโครงสร้างก็ไม่ค่อยแข็งแรง ส่วนใหญ่พระและเณรจะทำกันเอง ตัวหลวงปู่หลวงก็ได้ลงมือลงแรงช่วยเขาด้วย ตั้งแต่การผสมปูน ก่ออิฐ และงานมุงหลังคา เป็นต้น ทำให้อายุการใช้งานไม่นานเท่าที่ควร แต่ก็ใช้งานมาได้กว่า ๔๐ ปี
อุโบสถหลังนี้เมื่อสร้างเสร็จ ก็ได้ใช้เป็นที่ทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ภายในวัดและยังได้ใช้เป็นที่อุปสมบทพระภิกษุสามเณรในกาลต่อมาอีกหลายๆ รูป เพราะในวันที่ ๓๐ เมษายน ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ หลวงปู่ก็ได้รับแต่งตั้งจากพระอริยวงศาคตญาณ เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตในขณะนั้น ให้เป็นพระอุปัชฌาย์คณะธรรมยุต ทำหน้าที่อุปสมบทพระภิกษุสามเณรมากมายหลายสิบองค์
พระอาจารย์ไพบูลย์
สุมงฺคโล
หลวงปู่หลวงได้เคยบอกว่า ท่านได้บวชพระมากกว่าอุปัชฌาย์องค์อื่นๆ ในสมัยนั้น เพราะตอนนั้นอุปัชฌาย์มีน้อยไมพอเพียง ท่านรับงานตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ จรดจนถึงเชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ทำให้ระยะนั้นท่านไม่ค่อยมีโอกาสปลีกวิเวกออกธุดงค์เท่าใดนัก เพราะงานในหน้าที่ด้านต่างๆ เริ่มมีเข้ามามาก อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เครื่องพิมพ์ดีด ปากกายังไม่มีใช้ ต้องใช้ดินสอเขียนรายงานด้วยมือ ตอนนั้นได้ค่านิตยภัต ๑,๘๐๐ บาท ซึ่งมีค่าพอสมควรในสมัยนั้น
อุโบสถหลังเก่าได้ชำรุด แตกร้าว จนในที่สุด คณะสงฆ์และกรรมการวัดได้มีมติให้ทำการรื้อถอน และสร้างขึ้นใหม่เป็นที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งในงานวันบูรพาจารย์ ได้ฉลองสมโภชโบสถ์ เจดีย์ และทำบุญครบรอบ อายุ ๘๒ ปี ของหลวงปู่ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ถึง ๒ มีนาคม ๒๕๔๖
ซึ่งงานออกแบบและการควบคุมการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่นี้ มีท่านพระอาจารย์ไพบูลย์ สุมงฺคโล เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งท่านพระอาจารย์ไพบูลย์นี้เคยบวชและอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสำราญนิวาสนี้มาก่อน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ โดยมีหลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านจึงมีความเคารพในตัวหลวงปู่หลวง และผูกพันกับวัดนี้มากพอสมควร
สร้างพระเจดีย์คู่วัด
หลังจากที่อุโบสถหลังเดิมได้สร้างเสร็จใหม่ๆ และทำการฉลองเสร็จไปแล้ว อันเป็นปีเดียวกับที่วัดป่าสำราญนิวาสได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ทางคณะศรัทธาได้ร่วมกันบริจาคปัจจัยเพื่อที่จะสร้างพระเจดีย์ขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง สำหรับบรรจุพระบรมธาตุและพระอัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตมหาเถระ ที่ศิษย์ท่านหนึ่ง คือแม่ชีสมบัติ ซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ได้มีโอกาสไปอยู่จำพรรษาและอุปัฏฐากท่านพระอาจารย์มั่น ในช่วงระยะหลังก่อนท่านจะมรณภาพ ที่บ้านหนองผือ จ.สกลนคร
ด้วยความใกล้ชิดและการตั้งใจปรนนิบัติครูบาอาจารย์ภายหลังจากที่ท่านพระอาจารย์มั่นละทิ้งสังขารแล้ว แม่ชีสมบัติจึงมีโอกาสได้รับอัฐิของท่านพระอาจารย์มั่นมาบูชาจำนวนหนึ่ง ต่อมาภายหลังแม่ชีสมบัติได้ย้ายมาพักจำพรรษาที่วัดป่าสำราญนิวาส ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับทางวัดกำลังดำเนินการก่อสร้างพระเจดีย์จึงได้คิดจะเอาอัฐิครูบาอาจารย์ไปร่วมบรรจุด้วย
เมื่อนำเอาอัฐิท่านพระอาจารย์ออกมาดูก็ได้พบว่าอัฐิเหล่านั้นได้แปรสภาพเป็นพระธาตุงามสดใสยิ่งยัก เป็นที่น่าตื่นเต้นยินดีของผู้ที่ได้พบเห็น แม่ชีสมบัติได้ตัดสินใจถวายพระธาตุทั้งหมดเพื่อบรรจุไว้ในพระเจดีย์สำหรับให้พระพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้กราบไหว้บูชาต่อไป จึงได้นับว่าเป็นบุญกุศลของวัดป่าสำราญนิวาสที่มีอัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่น พระมหาเถระผู้ประเสริฐและทรงคุณเป็นเอกในสายวิปัสสนาบรรจุอยู่
นอกจากอัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ในพระเจดีย์นี้ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ยังได้นำเอาวัตถุมงคลส่วนหนึ่งมาบรรจุไว้ด้วย ได้ตั้งชื่อพระเจดีย์องค์นี้ว่า "พระธาตุเจดีย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต" โดยได้สร้างอยู่ทางด้านหลังเดิมของอุโบสถหลังเดิมจนทุกวันนี้ ปัจจุบันตัวองค์พระเจดีย์ได้เกิดเอนเอียงไปจนพอสังเกตได้ จึงได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่พร้อมกับอุโบสถหลังใหม่ โดยมิได้รื้อทิ้ง แต่ได้สร้างครอบพระเจดีย์องค์เดิมไว้เพื่ออยู่คู่เป็นศรีสง่าแก่วัดป่าสำราญนิวาสต่อไป
พัฒนาวัดพัฒนาจิต
หลวงปู่หลวงได้ตั้งใจอยู่พัฒนาวัดป่าสำราญนิวาส อย่างจริงจัง ตั้งแต่ที่ท่านได้กลับมาอยู่จำพรรษาที่วัดนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ แต่งานด้านการพัฒนาจิตใจทั้งของตัวท่านเองและชาวบ้านท่านก็ไม่ละทิ้ง คงกระทำควบคู่กันไป งานการก่อสร้างท่านก็เร่งทำเพราะมีกำลังศรัทธาจากสาธุชนทั้งหลายๆ สายสนับสนุนอยู่มากเพราะมีความศรัทธาเลื่อมใสทั้งต่อพระป่ากรรมฐานและต่อตัวท่านหลวงปู่หลวงเอง ทำให้การงานการก่อสร้างและพัฒนาเสนาสนะต่างๆ ไม่สะดุดค้างคา มีความเจริญขึ้นเป็นลำดับ
ที่วัดป่าสำราญนิวาสนี้เป็นวัดที่มักจะมีพระเถระที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใสแวะมาพำนักอยู่เสมอๆ อาทิ เช่น หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม, หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี, หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร, หลวงปู่แว่น ธนปาโล, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่บุญจันทร์ จนฺทวโร, หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ และท่านพ่อลี ธมมฺธโร เป็นต้น นับว่าชาวบ้านา อ.เกาะคา มีความโชคดีและมีวาสนาที่ได้ทำบุญกับพระเถระที่เป็นอาริยะเจ้าหลายๆ องค์อยู่เป็นประจำ
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ นี่เอง วันหนึ่งท่านพ่อลีได้รับกิจนิมนต์ไปในงานทำบุญบ้านแม่ชีสมบูรณ์ สรัสยะนันท์ ที่หน้าตลาด อ.เกาะคา ทางเจ้าภาพได้ถวายปัจจัยไทยธรรมแก่ท่านเป็นเงิน ๔๕ บาท ท่านพ่อลีจึงได้เอาปัจจัยดังกล่าวมาตั้งเป็นกองทุนก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมเพื่อให้ใช้เป็นที่ทำวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสามเณร แม่ชี และเป็นที่ประกอบศาสนพิธีของชาวบ้านด้วย ได้มีคณะศรัทธาหลายหมู่หลายคณะช่วยกันบริจาคปัจจัยสมทบในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ และได้ตั้งชื่อศาลาหลังนี้ว่า "ศาลาสุทธิธรรมเมตตา" เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณของท่านพ่อลี ที่มีต่อวัดนี้
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ นาย พงษ์เดช จงกล นายอำเภอเกาะคาในสมัยนั้นร่วมกับคณะศรัทธาใน อ.เกาะคา ได้พร้อมใจกันทำการหล่อรูปเหมือนท่านพ่อลี ธมฺมธโร ขนาดเท่าองค์จริง หล่อด้วยเนื้อนวโลหะ เพื่อไว้เป็นที่ระลึกและที่สักการบูชา จะได้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่วัดแทนองค์จริงของท่านซึ่งได้มรณภาพไปแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ด้วยอายุเพียง ๕๕ ปี
เมื่อทำการหล่อและขัดแต่งรูปเหมือนเสร็จแล้ว ก็ได้มีการอัญเชิญรูปหล่อท่านพ่อลีขึ้นประดิษฐานไว้บนศาลาสุทธิธรรมเมตตา ก็ได้มีผู้ชายหลายคนช่วยกันออกแรงยกรูปหล่อของท่านอย่างเต็มกำลัง แต่ปรากฏว่ายกอย่างไรก็ไม่ขึ้น ไม่ขยับเขยื้อนเลยแม้แต่น้อย เหมือนกับว่ารูปหล่อนั้นมีน้ำหนักมากจนยกไม่ไหว ได้พยายามกันอยู่นาน
พอดีหลวงปู่หลวงท่านนึกขึ้นได้ว่า ท่านพ่อลีท่านมีนิสัยเจ้าระเบียบ ถ้าเจ้าอาวาสไม่นิมนต์ท่านให้ขึ้นศาลาแล้วท่านจะไม่ยอมขึ้น เมื่อคิดได้เช่นนั้นแล้วหลวงปู่หลวงก็ได้ยกมือขึ้นพนมพร้อมกับกล่าวนิมนต์ท่านพ่อลีให้ขึ้นบนศาลาฯ เพียงเท่านั้นเอง รูปหล่อที่เคยหนักจนแทบเขยื้อนไม่ไหว ก็กลับเบาพากันออกแรงไม่เท่าไรก็สามารถอัญเชิญขึ้นไปไว้บนศาลาฯ ได้โดยง่าย รูปหล่อท่านพ่อลีนั้นจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านพากันกราบไหว้สักการบูชาตั้งแต่นั้นมา
พอว่างเว้นจากภารกิจการงานด้านอื่นๆ ในหน้าที่ หลวงปู่หลวงก็จะหันไปทำความเพียรภาวา ปฏิบัติตามข้อวัตรต่างๆ ที่ครูบาอาจารย์ท่านได้เคยทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง ท่านจะไม่ละทิ้งหรือละเลย แม้ว่าวันนั้นๆ จะมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าร่างกายสักเพียงใด คงปฏิบัติตามคำสอนของครูบาอาจารย์ อย่างสม่ำเสมอ เพราะท่านเล็งเห็นความสำคัญในการบำเพ็ญทางจิต จนมีอยู่วันหนึ่งท่านเกิดสงสัยในจิตของตนเองว่า ทำไมถึงได้มี จิตใจจดจ่อวนเวียนอยู่แถวๆ บริเวณที่ข้างห้องน้ำซึ่งอยู่ทางด้านหลัง ของศาลาสุทธิธรรมเมตตา (ปัจจุบันห้องน้ำนั้นได้รื้อไปแล้ว) เมื่อได้นั่งภาวนาทบทวนตรวจดูนิมิตความเป็นไป ก็ได้พบว่า ในครั้งอดีตหลายๆ ชาตินานมาแล้ว ตัวท่านเคยเกิดเป็นวัว เป็นเก้ง อาศัยอยู่ในราวป่าบริเวณนั้นนั่นเอง ถึงได้มีความรู้สึกคุ้นกับสถานที่แห่งนั้นดี ทั้งยังได้กลับมาเกิดอีกหลายครั้ง และได้พำนักอยู่ที่สถานที่อันเป็นวัดป่าสำราญนิวาส แม้ในชาติปัจจุบัน
ส่วนงานด้านการอบรมสั่งสอนญาติโยมให้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมปฏิบัติ ให้รู้จัก บาป บุญ คุณ โทษ มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปกรรม หลวงปู่หลวงท่านก็ได้ทำอยู่เสมอเมื่อมีโอกาส ทั้งการเทศนาอบรมในวันพระ วันถืออุโบสถ หรือในกิจนิมนต์ตามที่ต่างๆ ท่านก็มักจะหาโอกาสแสดงธรรมอบรมจิตใจศรัทธาชาวบ้านทุกครั้ง ทำให้ชื่อเสียงของหลวงปู่หลวง เป็นที่รู้จักและยอมรับของชาวบ้าน ขจรไกลไปทั่วหลายอำเภอและในหลายจังหวัด
สร้างสำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ หลวงปู่ได้ไปสร้างสำนักสงฆ์คีรีสุบรรพตขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นวัดสาขาของวัดป่าสำราญนิวาส โดยตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านหัวทุ่ง ตำบลพระบาท อำเภอเมือง จ.ลำปางโดยมีคุณระวุฒิ แจ้งมงคล ซึ่งเป็นคนจังหวัดสมุทรปราการ เป็นผู้ถวายที่ดินให้กับหลวงปู่
ครั้งแรกหลวงปู่ได้เดินทางกลับจากวัดป่าสำราญนิวาส ไปดูสถานที่ก่อน ซึ่งในขณะนั้นการเดินทางลำบากมาก ทางรถยนต์เข้าเกือบไม่ได้ เพราะเป็นทางรถเครื่อง (รถมอเตอร์ไซค์) ของชาวบ้านที่ไปหาของป่ามาขาย พอไปถึงหลวงปู่ก็บอกว่า "เป็นสถานที่ที่เหมาะกับการบำเพ็ญสมณะธรรมมาก เพราะเป็นที่ห่างไกลจากหมู่บ้านพอสมควรและอากาศก็ปลอดโปร่งเย็นสบาย"
หลวงปู่จึงได้จุดธูป ๕ ดอก บอกกับเจ้าที่เจ้าทางในสถานที่นั้นให้ได้รับทราบ จึงถือได้ว่าสำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต ได้เริ่มก่อตั้งขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ นี้เอง จากนั้นก็ได้มีการสร้างกุฏิและศาลาชั่วคราวหลังเล็กๆ พอที่จะเป็นที่อยู่อาศัยและทำวัตรไหว้พระสวดมนต์และเป็นที่ฉันเช้าได้ ต่อมาก็ได้มีการพัฒนา มีการก่อสร้างหลายๆ อย่างตามมา คือ สร้างกุฏิถาวร สร้างศาลาหลังใหม่ให้มั่นคงแข็งแรงมากขึ้นกว่าเดิม และได้ทำการสร้างถนนลาดยางเป็นทางเข้าสำนักสงฆ์แห่งใหม่เป็นที่เรียบร้อย จนการเดินทางสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
หลวงปู่หลวง ได้ไปอยู่จำพรรษาอย่างเป็นจริงเป็นจังที่สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต เมื่อเข้าพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยอยู่จำพรรษาติดต่อกันเป็นระยะเวลา ๓ ปี คือ ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ - ๒๕๓๙ แต่หลวงปู่จะกลับลงไปที่วัดป่าสำราญนิวาสบ้างในบางโอกาส เช่น เมื่อมีญาติโยมนิมนต์เพื่อทำบุญ มีการบวชพระ หรือเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาหรือเป็นวันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ หลวงปู่ก็จะไปเทศน์โปรดศรัทธาญาติโยมแล้วพักค้างคืนหนึ่งคืน พอเช้าวันใหม่ฉันเช้าเสร็จแล้วก็จะกลับขึ้นวัดดอยฯ (หลวงปู่จะเรียกสำนักสงฆ์คีรีสุบรรพตว่า วัดดอยฯ) เพื่อพักผ่อนและบำเพ็ญในกิจวัตร ข้อวัตร
ในช่วงแรกปี พ.ศ. ๒๕๓๗ การเป็นอยู่ลำบาก โดยเฉพาะการเดินทางระยะทางจากหมู่บ้านเข้าไปถึงสำนักสงฆ์ โดยเฉพาะหน้าฝน การเดินทางสุดแสนจะลำบากเพราะถนนไม่ดี เป็นทางวัวควายเดินและชาวบ้านเดินทางไปหาของป่า ถนนหนทางเต็มไปด้วยโคลนตม มีอยู่หลายครั้งที่การเดินทางจะต้องเสียเวลาไปหลายชั่วโมงเพราะรถของหลวงปู่ติดหล่ม เดินทางต่อไปไม่ได้ ต้องเรียกพระเณรในวัดมาช่วยกันเข็นรถขึ้นจากหล่มก่อนจึงเดินทางต่อไปได้ บางทีกว่าจะขึ้นได้ ต้องเสียเวลาหลายชั่วโมงเลยทีเดียว
ในช่วงปีแรกที่อยู่จำพรรษาไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้ไฟจากแบตเตอรี่แทน ซึ่งใช้เฉพาะในกุฏิหลวงปู่ที่เดียว ส่วนของพระเล็กเณรน้อยต้องอาศัยจุดตะเกียงหรือจุดเทียนพอให้ได้แสงสว่าง
ในช่วงจำพรรษา ๓ เดือน จะเป็นฤดูฝนจะมียุงชุมมากขณะนั่งทำวัตร - สวดมนต์ไปก็ต้องไล่ยุงไปด้วย เพราะตอนนั้นมุ้งลวดยังไม่ได้ใช้ จุดยากันยุงก็ไม่หนี ถ้าจุดมากพระเณรก็เมายากันยุงกันเสียก่อนอีก หลวงปู่ท่านจึงมักพูดบ่อยๆ ว่าอยู่ที่วัดดอยฯ นี้ต้องอดทนทุกอย่าง
ในระยะหลังจากนั้นมา จึงได้รับการพัฒนามาเป็นระยะๆ คือทำเรื่องของไฟฟ้าเข้ามาไว้ใช้ในวัดและจ้างบริษัทของเอกชนเข้ามาบุกเบิกทำถนนลาดยางเข้าวัดโดยไม่ต้องใช้งบประมาณจากทางราชการเลย โดยอาศัยจตุปัจจัยกำลังทรัพย์จากศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่เองทั้งนั้น ทั้งจากในลำปาง กรุงเทพฯ และในจังหวัดต่างๆ เพราะเวลาหลวงปู่ไปกิจนิมนต์ในที่ต่างๆ หลวงปู่ก็จะบอกศรัทธาญาติโยมว่ากำลังก่อสร้างสิ่งนั้นๆ อยู่ศรัทธาญาติโยมก็จะเป็นธุระช่วยกันสละทุนทรัพย์ คนละเล็กละน้อยตามกำลังศรัทธา แล้วหลวงปู่ก็จะนำปัจจัยเหล่านั้นมาบำรุงพัฒนาในวัดให้เจริญก้าวหน้าต่อไปเป็นลำดับ
จำพรรษา วัดม่อนหินขาว
ในช่วงที่หลวงปู่จำพรรษาอยู่สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพตนั้นศรัทธาพี่น้องชาว อ.สบปราบ ได้มาขอพระ เพื่อไปจำพรรษาที่วัดม่อนหินขาว บ้านทุ่ง อ.สบปราบ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สร้างมานานแล้ว แต่ไม่มีพระเณรอยู่จำพรรษา ว่างเว้นมาเป็นระยะเวลาหลายปี หลวงปู่จึงได้จัดพระไปอยู่จำพรรษาให้
ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ได้อาราธนานิมนต์หลวงปู่ไว้ว่า อยากให้หลวงปู่ไปอยู่จำพรรษาที่วัดม่อนหินขาว เพื่อโปรดศรัทธาญาติโยม ชาว อ.สบปราบบ้าง
เหตุนั้นเมื่อหลวงปู่อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต ครบ ๓ ปี ในปีพ.ศ.๒๕๔๐ หลวงปู่จึงได้ไปอยู่จำพรรษาในช่วงไตรมาส ๓ เดือน ที่วัดม่อนหินขาว อ.สบปราบ จ.ลำปาง ในปีนั้นมีพระเณรติดตามหลวงปู่ไปอยู่จำพรรษาด้วยประมาณ ๑๕ รูป ศรัทธาชาวบ้านทุ่งดีใจกันถ้วนหน้า โดยได้สร้างกฏิหลังใหม่ให้หลวงปู่ได้อยู่จำพรรษา
ตลอดระยะเวลา ๓ เดือน ที่วัดม่อนหินขาวนี้จะมีญาติโยมคนเฒ่าคนแก่ ทั้งผู้หญิง และผู้ชาย มาจำศีลภาวนากันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกาลเข้าพรรษาจะมีอยู่ประมาณ ๖๐ - ๗๐ คน จะพากันมานุ่งขาวห่มขาวแล้วนอนพักค้างคืนที่วัด ตกเย็นมาก็พากันทำวัตรสวดมนต์ พอถึงเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. หลวงปู่ก็จะลงไปที่ศาลาเพื่อเทศน์ศรัทธาญาติโยมให้พากันตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมโดยเฉพาะศีล ๕ ศีล ๘ ให้พากันรักษาไว้ให้ได้เพราะเป็นศีลของผู้ครองเรือน หรือผู้ถือพรหมจรรย์ ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติเพราะเป็นศีลขั้นพื้นฐานที่จะนำไปสู่ มรรคผลนิพพาน ในธรรมชั้นสูงต่อไป ถ้าศีลดีแล้วการประพฤติปฏิบัติก็จะดีไปเป็นลำดับ แต่ถ้าศีลไม่ดีแล้ว การปฏิบัติต่างๆ ก็จะไม่ดี เป็นเหตุต่อเนื่องกันไป
จะเห็นได้ว่าศรัทธาชาวบ้านทุ่ง อ.สบปราบ จะมีความตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมมากพอสมควร เพราะในระยะเวลาที่หลวงปู่อยู่จำพรรษานั้นคนเฒ่าคนแก่ ผู้ชายจะเข้ามาในอุปัฏฐาก ดูแลพระเจ้าพระสงฆ์เป็นอย่างดี น้ำใช้ น้ำฉันตลอดจนน้ำปานะ ถ้าไม่มีญาติโยมก็จะช่วยกันขวนขวายหามาถวาย ไม่ขาดตกบกพร่อง ตลอดจนเอาใจใส่ดูแลการเป็นอยู่ขบฉันของพระเณรไม่ให้ขาด ให้เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงร่างกายบำรุงธาตุขันธ์เพื่อให้มีกำลังในการปฏิบัติธรรม โดยที่ไม่ให้มีเวทนากับความอ่อนเพลีย เพื่อจะได้ทำกิจวัตร - ข้อวัตร ของพระภิกษุ-สามเณร โดยเฉพาะการทำวัตร ไหว้พระสวดมนต์ ท่องบ่นสาธยายมนต์ และการทำสมาธิภาวนา เพื่อตอบแทนบุญคุณหรือให้เกิดมีอานิสงส์แก่ศรัทธาญาติโยมที่เข้าได้ถวายอาหารและบิณฑบาตตลอดทุกเช้าอยู่เป็นประจำ
หลวงปู่มักจะพูดยกย่องชมเชยศรัทธาวัดม่อนหินขาวอยู่บ่อยๆ ว่าชาว อ.สบปราบเขาดีมาก เอาใจใส่ดูแลพระเณรและพากันตั้งใจรักษาศีลอยู่เป็นประจำ เหตุนั้นจึงมีแต่ผู้สูงอายุยืนยาวถึง ๘๐ ปี ๙๐ ปี มีแต่คนเฒ่าอยู่เฝ้าบ้านทั้งนั้น
ก็คงจะเป็นจริงดังหลวงปู่ว่า เพราะถึงแม้ในช่วงออกพรรษา ญาติโยมก็ยังมานอนรักษาศีลภาวนากันอยู่ไม่ขาด แม้แต่บางครั้งในช่วงที่ไม่มีพระเณรอยู่ในวัด ญาติโยมก็ยังมาอยู่ดูแลวัดเสนาสนะ กฏิ ศาลา ให้อยู่ในสภาพที่ดีตลอดไป
หลวงปู่ได้อยู่จำพรรษาที่วัดม่อนหินขาว ๒ พรรษา คือปีพ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๑ ขณะที่จำพรรษาที่วัดม่อนหินขาวนี้ หลวงปู่ได้พาศรัทธาญาติโยมฝึกหัดปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิภาวนาอบรมสั่งสอนมาเป็นลำดับ
ในด้านการก่อสร้าง หลวงปู่ก็ได้ปรับปรุงศาลาหลังเดิมให้แข็งแรงมั่งคงกว่าเก่า คือได้ปูกระเบื้องและเปลี่ยนหลังคาใหม่ให้ดีกว่าเดิม สร้างกฏิและห้องน้ำเพิ่มเติมให้พอเพียงแก่การใช้ของพระภิกษุ - สามเณรภายในวัด ตลอดจนญาติโยมที่มาจำศีลภาวนาอยู่เป็นประจำ
จึงถือได้ว่าวัดม่อนหินขาว เป็นอีกวัดหนึ่ง ที่เป็นสาขาของวัดป่าสำราญนิวาสฯ คืออยู่ในการดูแลของหลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ พอออกพรรษารับกฐินแล้วหลวงปู่ก็กลับไปจำพรรษาที่สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพตอีก ๑ พรรษา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒
จำพรรษา วัดถ้ำพระสบาย
พระครูภาวนาทัศนวิสุทธิ (หลวงปู่แว่น ธนปาโล) เจ้าอาวาสวัดถ้ำพระสบาย อ.แม่ทะ จ.ลำปาง มรณภาพเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ด้วยโรคชรา อายุ ๘๘ ปี หลวงปู่แว่นถือได้ว่าเป็นพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งที่มีศิลาจริยาวัตรที่งดงามและเคร่งครัดมาก โดยเฉพาะในเรื่องของพระธรรมวินัยด้วยแล้ว ถือเอาเป็นแบบอย่างได้เลย เพราะท่านยึดหลักแบบฉบับในปฏิปทาของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต มาโดยตลอด แม้แต่ข้อปลีกย่อยเล็กน้อย เช่นการฉันมื้อเดียว และฉันในบาตร ท่านจะไม่ให้ขาดตกบกพร่องเลยแม้แต่นิดเดียว
หลวงปู่แว่น จึงเป็นที่เคารพนับถือมากและเป็นอาจารย์ของหลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ และมีศักดิ์เป็นญาติพี่น้องกันด้วยเกี่ยวข้องทางด้านทางแม่ เกิดอยู่บ้านเดียวกัน คือบ้านบัว อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เมื่อคราวหลวงปู่แว่นมรณภาพลง หลวงปู่ก็ได้เป็นประธานจัดการธุระในหลายอย่างเกี่ยวกับงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่แว่น จนเสร็จเรียบร้อยด้วยดีทุกประการ
หลังจากที่หลวงปู่แว่นมรณภาพแล้ว ภาระหน้าที่ในการดูแลวัดถ้ำพระสบายก็ต้องตกอยู่ในการดูแลของหวงปู่หลวงมาโดยตลอด ทั้งในด้านจตุปัจจัยค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร หลวงปู่จะส่งมาให้เป็นระยะและจะไปพักค้างคืนที่วัดถ้ำพระสบายบ้างในบางโอกาส
จนในปี พ.ศ.๒๕๔๓ หลวงปู่หลวงจึงได้ไปจำพรรษาที่วัดถ้ำพระสบาย ตลอดระยะเวลาที่อยู่จำพรรษา ๓ เดือน หลวงปู่จะทำกิจวัตรข้อวัตร คือการไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิภาวนา อยู่ไม่ได้ขาด
ในแต่ละวันเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. หลวงปู่จะพาพระ-เณรที่อยู่จำพรรษาในปีนั้นประมาณ ๒๐ รูป มารวมกันที่อุโบสถแล้วหลวงปู่จะนำไหว้พระสวดมนต์ ประมาณเกือบ ๒ ชั่วโมง จากนั้นจะพักผ่อนอิริยาบถเล็กน้อย แล้วหลวงปู่ก็จะเทศน์อบรมพระ - เณร ไปจนถึงเวลาประมาณห้าทุ่มจึงเลิกกัน
ที่วัดถ้ำพระสบายนี้จะมีญาติโยมมารักษาศีลภาวนาน้อย แต่แปลกอยู่อย่างหนึ่งจะมีแต่ผู้ชาย คนเฒ่า คนแก่มารักษาศีลภาวนา ผู้หญิงมีน้อยมาก
ในปีที่หลวงปู่หลวง อยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำพระสบายนี้มีช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยเพราะเป็นช่วงหน้าฝนด้วย อากาศเดี๋ยวหนาวเดี๋ยวร้อน และบางครั้งฝนก็จะตกทำให้ปีนั้นหลวงปู่เกิดอาพาธ เป็นไข้ตัวร้อน จึงได้ไปนอนพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลแม่ทะ อยู่เป็นเวาลาหลายวัน โดยมีคุณหมอสมบูรณ์ ชุ่มวิจารณ์ เป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด จนอาการดีขึ้นจึงกลับวัดได้ตามปกติ
ช่วงที่หลวงปู่อยู่จำพรรษานั้นมีปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น คือปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสำคัญของวัดถ้ำพระสบายมาตั้งแต่สมัยหลวงปู่แว่นยังอยู่แล้ว คือน้ำที่ใช้ในการล้างบาตร ซักผ้า ตลอดจนน้ำใช้ น้ำสรงของพระเณรจะขาดแคลนมาก บางครั้งไม่มีน้ำใช้เป็นเวลาหลายวัน เพราะว่าน้ำที่ใช้ในปัจจุบันเป็นน้ำที่สูบมาจากอ่างเก็บน้ำของสาธารณะ บางปีฝนไม่ดี น้ำมีน้อย ประกอบกับชาวบ้านเปิดไปทำนา น้ำไม่พอใช้หรือน้ำแห้งขอดลงมาก ถ้าชาวบ้านลงไปหาปลา น้ำก็จะขุ่นใช้ไม่ได้ หรือถ้าฝนตกหนักหลายวัน น้ำไหลบ่าลงจากภูเขาก็ทำให้น้ำขุ่นจนเป็นสีข้น พระเณรก็จำเป็นใช้น้ำที่ขุ่นอย่างนั้น
ในปีที่หลวงปู่อยู่จำพรรษา มีปัญหาเกี่ยวกับเครื่องสูบน้ำมาก บางครั้งเครื่องเสีย กว่าจะซ่อมได้กินเวลาไปหลายวัน พระ - เณร ก็ไม่มีน้ำใช้ ปัญหาเรื่องน้ำจึงเป็นปัญหาหลักของวัดถ้ำพระสบายมาจนถึงทุกวันนี้ หลวงปู่จึงพูดเตือน พระ - เณร และญาติโยมว่าไปที่ไหนให้พากันทานน้ำด้วย จะได้ไม่อดอยากแห้งแล้งและเวลามีญาติโยมเอาน้ำมาถวาย หลวงปู่จะบอกว่า "ใครทานน้ำได้เป็นเศรษฐี ใครทานของดีจะได้เป็นพระเจ้า"
หลวงปู่หลวงจึงมีความผูกพันกับวัดถ้ำพระสบายมากพอสมควร อีกประการหนึ่งคือเป็นวัดที่ท่านได้บุกเบิกเริ่มสร้างขึ้นพร้อมกับหลวงปู่แว่น ธนปาโล คือการสร้างถ้ำ ทุบหินจนเกิดอาการอาพาธหนักในวัยหนุ่ม และอีกประการหนึ่งคือได้เกี่ยวข้องกับครูบาอาจารย์ พระเถระลูกศิษย์สายหลวงปู่มั่นหลายๆ รูป ที่วัดถ้ำพระสบายแห่งนี้ เช่น ท่านพ่อลี ธมฺมธโร หลวงปู่ชอบ ฐานฺสโม หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร เป็นต้น
แม้ว่าในช่วงออกพรรษาแล้ว หลวงปู่หลวงก็กลับไปจำพรรษาที่วัดเดิมแต่ความเมตตาอันสูงค่าที่ประมาณไม่ได้ คือหลวงปู่ก็ยังสนับสนุนดูแลวัดถ้ำพระสบายอยู่ตลอดไป เช่นให้ทุนในการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตรอบวัด แต่สร้างได้เฉพาะด้านหน้าก็ต้องหยุด ไปเพราะปัจจัยในการก่อสร้างไม่มีต่อ และได้ฝากเงินเข้ามูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อเอาดอกผลมาใช้ในกิจการของวัดด้วย
จำพรรษา วัดคำประมง
วัดคำประมง อ.พรรณานิคม
ในปีพ.ศ. ๒๕๔๔ หลวงปู่หลวง ได้ไปจำพรรษาที่วัดคำประมง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เพราะว่าศรัทธาพี่น้องชาว จ.สกลนคร ได้นิมนต์หลวงปู่ไว้หลายปีแล้ว แต่ไม่มีโอกาสว่างซักที ประกอบกับพระอาจารย์ พัลลภ จิรธมฺโม เจ้าอาวาสวัดคำประมงได้สร้างกฏิหลังใหม่ถวายหลวงปู่ด้วย โดยมีญาติโยมในเมืองสกลนครเป็นเจ้าภาพในการก่อสร้าง วัดคำประมงนี้เป็นวัดที่หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร เป็นผู้บุกเบิกสร้างไว้จนเป็นวัดใหญ่โต มีสิ่งก่อสร้างมากมายหลายอย่าง
ในปีที่หลวงปู่จำพรรษาที่วัดคำประมงนี้ หลวงปู่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมาก เป็นเพราะว่ากุฏิหลังใหม่ที่สร้างถวายหลวงปู่นั้นอยู่ติดกับอ่างน้ำขนาดใหญ่ทำให้อากาศเย็นสบาย มีลมพัดอยู่ตลอดเวลา ปกติหลวงปู่จะชอบน้ำเป็นอย่างมาก หลวงปู่เคยพูดว่าในอดีตเคยเกิดเป็นปลา เพราะมีอยู่ปีหนึ่งได้ไปงานนิมนต์ที่ จ.ภูเก็ต แล้วได้นั่งเรือออกเที่ยวชมทะเล หลวงปู่บอกว่ารู้สึกจิตใจสดชื่นแจ่มใสเย็นสบาย เหมือนกับเป็นปลาว่ายน้ำอยู่อย่างนั้น ประกอบกับอาหารการฉันที่วัดคำประมง ส่วนมากจะเป็นของพื้นบ้านอีสานธรรมดาทั่วไป ทำให้หลวงปู่ฉันได้ถูกปาก ในปีนั้นหลวงปู่มีสุขภาพดีมาก
ในกลางพรรษาปีนั้น หลวงปู่พร้อมด้วยคณะสงฆ์หลายรูปได้มีโอกาสไปกราบเยี่ยมทำวัตรหลวงปู่จาม มหาปุญโญ ที่ จ.มุกดาหาร ซึ่งแต่ก่อนก็เคยอยู่ปฏิบัติธรรมด้วยกันในเขต จ.เชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง
พอไปถึงหลวงปู่จามก็ยังจำได้ดี ทั้งที่หลวงปู่เองก็อายุ ๙๓ ปีแล้ว และมีโอกาสได้ฟังเทศน์ของหลวงปู่จามอีกด้วย หลวงปู่หลวงยังจำได้และนำมาสั่งสอนญาติโยมอยู่เป็นประจำว่า "นรกไม่มีวันเต็มเด้อ สวรรค์ก็ไม่มีวันเต็มเด้อ ใครอยากไปอยู่ที่ไหนก็ทำเอง"
พอออกพรรษาแล้วหลวงปู่ก็ยังคงอยู่ที่วัดคำประมง ในเวลาช่วงเย็นๆ หลวงปู่ก็จะเอาอาหารไปเลี้ยงปลาที่มีมากมายตัวใหญ่ๆ เป็นฝูงๆ ขึ้นมาแย่งกันกินอาหาร เป็นที่ชอบอกชอบใจของหลวงปู่ หลวงปู่ก็จะหัวเราะไปด้วยแผ่เมตตาไปด้วย
เมื่อรับกฐินที่วัดคำประมงเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่ยังได้ไปเป็นประธานรับกฐินที่วัดใกล้ๆ บ้านแถวนั้นอีก เช่นวัดท่าวังหิน วัดป่าบะหัวเมย เป็นต้น จากนั้นจึงได้กลับลำปางไปพักจำพรรษาที่สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต อีก ๑ ปี คือในปี พ.ศ. ๒๕๔๕
สร้างพระปางนาคปรก
ประมาณช่วงฤดูร้อนของปี พ.ศ. ๒๕๔๑ หลวงปู่หลวงได้มีโอกาสพักผ่อนภาวนาที่น้ำตกแจ้ซ้อน โดยไปพักอยู่ที่สวนของลูกศิษย์คนหนึ่ง อากาศที่แจ้ซ้อนเย็นสบายมาก วันหนึ่งหลวงปู่บอกว่า "ได้นิมิตว่าเทวดามาบอกให้สร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกองค์ใหญ่ โดยเอาเลข ๙ ขึ้นหน้า ให้สร้างไว้บนภูเขาใน จ.ลำปาง เมื่อสร้างเสร็จแล้วเมืองลำปางจะอุดมสมบูรณ์"
ด้วยเหตุนี้หลวงปู่จึงมีโครงการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดใหญ่ ขนาดหน้าตัก ๙.๙๙ เมตร ไว้ที่สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต อ.เมือง จ.ลำปาง
เมื่อออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ แล้ว จึงได้ปรับปรุงเตรียมพื้นที่และได้ทำการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เพื่อทำการก่อสร้างพระนาคปรกองค์ใหญ่ โดยหลวงปู่ได้มอบหมายงานทุกอย่างให้กับพระปัญญาพิศาลเถร (หลวงพ่อไพบูลย์ สุมงฺคโล) เป็นผู้ควบคุมดูแลทั้งในเรื่องการเขียนแบบแปลนจัดหาช่างมาก่อสร้าง ซึ่งงานนี้เป็นงานที่สำคัญมาก โครงสร้างจะต้องแข็งแรงมั่นคง ทำให้คำนวณแบบแปลนยาก จนทำให้งานก่อสร้างได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๕ นี้เอง ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างกำลังดำเนินการไปเรื่อยๆ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณอีกเป็นจำนวนมาก
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
เมื่อครั้งหลวงปู่อาพาธครั้งสุดท้ายที่โรงพยาบาล หลวงปู่ท่อน ญาณธโร สหธรรมิกของหลวงปู่ได้มาเยี่ยมและพูดคุยกับหลวงปู่อยู่เป็นประจำ หลวงปู่หลวงท่านได้พูดกล่าวฝากไว้ ด้วยความผูกพันและเมตตาเมื่อหลวงปู่หลวงมรณภาพลง หลวงปู่ท่อนจึงได้เมตตารับภาระในการช่วยหาปัจจัยอีกแรงหนึ่ง
หลวงปู่บอกว่าพระนาคปรกองค์นี้จะเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง ไว้ให้เป็นที่กราบไหว้บูชาของศรัทธาสาธุชนทั่วไปในประเทศไทย เป็นที่กราบไหว้ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว จะมีความสวยงามสูงตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่บนภูเขาและมองเห็นได้ไกล ทั้งนี้จะทำให้เมืองลำปางอยู่เย็นเป็นสุขและมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น เพราะว่าเป็นพระที่เทวดานิมิตบอกให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่กราบไหว้สักการบูชา อยู่คู่บ้านคู่เมืองตลอดไป
นอกจากนั้นหลวงปู่ยังอธิฐานจิต ยกให้เป็นอนุสรณ์แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ซึ่งหลวงปู่ยกย่องเชิดชูว่าเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
แม้ว่าหลวงปู่หลวงจะอยู่ในวัยชราภาพมากแล้ว แต่ด้วยความเมตตา กรุณาอันหาประมาณไม่ได้ หลวงปู่จึงยังคงรับผิดชอบและแบกรับภาระต่างๆ มากมายเกี่ยวกับกิจการสงฆ์ และค่าใช้จ่ายของวัดต่างๆ ภายในปกครองของท่านมิใช่แต่เพียง พระ เถร เณร ชีเท่านั้น หลวงปู่ยังแผ่ความเมตตา ครอบคลุมทั่วไปไม่จำกัด
ด้วยภาระต่างๆ ทำให้ท่านต้องตรากตรำงานหนักรับกิจนิมนต์ไม่ได้ขาด ทั้งๆ ที่ สุขภาพของหลวงปู่ไม่สู้จะดีมานานแล้ว แต่หลวงปู่อาศัยขันติบารมี อดทนและเสียสละ ไม่เคยปริปากบ่นหรือย่อท้อ
หลวงปู่ทา จารุธมฺโม
หลวงปู่รับนิมนต์ครั้งสุดท้ายเพื่อพักผ่อนอิริยาบถ และกราบเยี่ยมสนทนาธรรมกับ หลวงปู่ทา จารุธมฺโม ณ วัดถ้ำซับมืด การพบกันของพระอริยเจ้าทั้งสอง เกี่ยวกับภาระขององค์หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ ดังนี้
หลวงปู่ทา : กลับไวแท้
หลวงปู่หลวง : มีธุระครับผม เป็นหนี้เขาอยู่ ต้องไปใช้หนี้เขาหลายแห่งอยู่
หลวงปู่ทา : เมื่อใดจะแล้วหนี้
หลวงปู่หลวง : บ่ ฮู้ล่ะ เมื่อใดสิแล้วก็บ่ฮู้นะ หลายหนี้อยู่ พระใหญ่ก็ ๒๐ ล้าน โบสถ์ก็ ๔ ล้าน ๕ ล้าน แล้ว อ่างน้ำมันรั่ว บ่อยู่ ก็อยู่ในราว สามแสน (หัวเราะ)
หลวงปู่ทา : เอ้า...สงเคราะห์เขาไป
หลวงปู่หลวง : สงเคราะห์เขาไป
หลวงปู่ทา : เฮ็ดอย่างใด เกิดมาแล้ว ต้องสงเคราะห์เขา สงเคราะห์ให้มันแล้วซะ
หลวงปู่หลวง : ครับผม สัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรม พระพุทธเจ้าว่า มันไปตามกรรม เราบ่ได้นึก บ่ได้คิดมันก็ไปบ่อยากนึก บ่อยากทำ มันก็ทำได้ (หัวเราะ) ก็เหมือนที่ไปสร้างพระใหญ่นะ ก็บ่ได้นึก คิดว่าจะไปสร้างที่นั้นน่ะแต่ก็เป็นไปตามกรรม
หลวงปู่ทา : เอา นึกแล้ว คิดแล้ว มันต้องตามไป ต้องสร้าง ต้องทำ
หลวงปู่หลวง : ที่หนึ่งที่เชียงรายกระผม เป็นถ้ำใหญ่ นั่นก็บ่ได้นึกคิดว่าจะไปสร้างที่นั่นขึ้น ไป๊ มันดันไปสร้างขึ้นเป็นวัดเป็นวาขึ้น
หลวงปู่ทา : จะเอาที่ไหนละ สร้างพระใหญ่
หลวงปู่หลวง : ลำปางครับ อ.เมือง, อ.เกาะคานั่น เจดีย์ โบสถ์สร้างแล้ว
หลวงปู่ทา : ยังอยู่แต่ลำปาง
หลวงปู่หลวง : ครับ จังหวัดลำปาง ที่เขาถวายให้ใหม่ครับ ๒๕๙ ไร่ ที่วัดเขานั้น คีรีสุบรรพตครับผม จะสร้างพระใหญ่งบ ๒๐ ล้าน
หลวงปู่ทา : เอาใหญ่เท่าใดครับ
หลวงปู่หลวง : บ่ได้คิด แต่มันก็ไป ไปตามกรรม บ่ได้คิด
หลวงปู่ทา : สร้างไปเถ๊อะ ได้บุญมากๆ มาให้พวกรุ่นหลังเขามนัสการ ได้บุญมาก สร้างพระ
หลวงปู่หลวง : หน้าตักกว้าง ๙ เมตร ๙๙ ครับ สูง ๒๘ เมตร
หลวงปู่ทา : โอ๊ะ ก็ใหญ่แล้ว จะนานเติบหนา จึงจะแล้วเสร็จ
หลวงปู่หลวง : ก็ กะ ๓ ปี
หลวงปู่ทา : ถ้าเงินดีก็แล้วไว เงินฝืดก็แล้วยาก
หลวงปู่หลวง : ครับเงินพอก็แล้วไว
หลวงปู่ทา : ไปพูดบ่อนใดก็ได้หรอก หลวงปู่ใหญ่เขาเลื่อมใส
หลวงปู่หลวง : สร้างแล้ว ก็สบายแล้ว คือโบสถ์เก่าที่ผมอยู่นะเสร็จแล้ว โบสถ์หลังนั้นสร้างมาตั้ง ๔๐ กว่าปี แล้ว ๔๗, ๔๘, ๔๙ เข้า ๕๐ ปี แล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งโบสถ์เจดีย์ มัน ๔ ล้าน ๕ ครับ ที่นี้วัดดอยฯ ที่อยู่นะ มันสร้างยาก พระนาคปรกสร้างองค์เดียวเป็นสององค์ สร้างยากมันก็เลยแพง พระนาคปรก ปกคุ้มครอง ต้องสร้างแข็งแรง จึงจะอยู่ได้ เหล็กอย่างดี เฉพาะเหล็กอย่างเดียว ก็จ่ายไป ๒ ล้านกว่าแล้ว
หลวงปู่ทา : โอ้ ว่า ล้าน ล้านมานี่ มันก็ท้อแล้ว
หลวงปู่หลวง : ส่วนวัดสำราญน่ะ ทั้งโบสถ์ ทั้งเจดีย์ เสร็จไปแล้ว
หลวงปู่ทา : พยายามเถอะ เอาให้มันแล้ว
หลวงปู่หลวง : ครับ มันแล้ว ก็ดีแล้ว
แสวงธรรมประเทศอินเดีย
หลวงปู่เคยพูดถึงประเทศอินเดีย อันเป็นดินแดนพุทธภูมิที่เกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์เสมอ
"ประเทศอินเดียมันน่าไป ไปแล้วก็อยากไปอีก เพราะได้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ที่นั่น ทำให้เกิดความสลดสังเวช ปลงสังขารได้ โดยเฉพาะได้ไปกราบไหว้สังเวชนียสถานด้วย"
หลวงปู่ตั้งใจไว้ว่าถ้ามีโอกาสก็อยากไปอีก ถึงแม้ว่าจะไปมา ๓ ครั้งแล้วก็ตาม ดังนั้นช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖ หลวงปู่จึงมีโอกาสได้เดินทางไปแสวงธรรมที่ประเทศอินเดียอีกครั้ง หลวงปู่บอกว่า "การไปประเทศอินเดียครั้งนี้ไปแบบเศรษฐี พักที่โรงแรมดี อาหารการกินไม่ขาดตกบกพร่อง มีสมบูรณ์ทุกอย่าง"
ตลอดระยะเวลา ๑๒ วันที่แสวงธรรมอยู่ที่ประเทศอินเดียนั้น ต้องยกย่องและยอมรับในความอดทนของหลวงปู่มากทีเดียว เพราะบางวันต้องใช้เวลาเดินทางบนรถหลายชั่วโมง เพราะระยะทางนั้นไกลมากและถนนหนทางก็ไม่ค่อยดี บางวันต้องฉันข้าวบนรถเลยก็มี แต่หลวงปู่ไม่เคยที่จะบ่นว่าเหนื่อยหรือเมื่อยล้า ให้ได้ยินแม้แต่คำเดียว จะเห็นแต่รอยยิ้ม เช่นเวลาเดินทางในช่วงเช้า ทั้งสองข้างทางจะเห็นพี่น้องชาวอินเดียออกไปทำธุรกิจส่วนตัวที่อดกลั้นไว้ตั้งแต่เมื่อคืน ด้วยความสบายอกสบายใจโดยไม่มีความเอียงอายเลยแม้แต่นิดเดียว คงจะสบายอารมณ์สมกับคำว่า "ปลดทุกข์" นั่นแหละ ซึ่งเป็นที่ชอบอกชอบใจของผู้ที่ไปแสวงบุญในครั้งนั้นเป็นอย่างดี เมื่อเดินทางไปถึงแต่ละสถานที่ที่มีความสำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงปู่ก็จะนำไหว้พระสวดมนต์ จากนั้นก็จะนั่งภาวนาโดยประมาณ หรือบางครั้งก็พาญาติโยมเดินเวียนเทียนประทักษิณครบ ๓ รอบ
ยังความปีติยินดีต่อเนื้อนาบุญที่ได้เกิดขึ้นแก่ศรัทธาญาติโยมที่ร่วมเดินทางแสวงบุญด้วยกันให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
อาพาธ
พอเข้าฤดูหนาวทีไรหลวงปู่มักมีอาการไออยู่เป็นประจำ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ก็เช่นเดียวกันพอย่างเข้าฤดูหนาวหลวงปู่ก็จะไอและมีอาการมากขึ้นเมื่ออากาศยิ่งหนาว จะหายาแก้ไอชนิดดีเพียงใดมาถวาย อาการก็ไม่หายขาด
ในปีนั้นหลวงปู่มีอาการไอมากกว่าทุกปี บางคืนไอจนจำวัดแทบไม่ได้ ไปพบแพทย์เอายามาฉันก็ระงับได้ชั่วคราว แล้วก็กลับมาไออีกเหมือนเดิม จนอากาศหนาวเริ่มลดไป เริ่มเข้าฤดูร้อน อาการไอก็จะลดลงและหยุดไปเอง
เทศกาลปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๖ หลวงปู่ได้มีโอกาสไปงานที่โรงเรียนบ้านบัว จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวมาก จนทำให้หลวงปู่ไม่สบาย เป็นหวัด มีไข้ด้วย ไปตรวจที่โรงพยาบาลอากาศอำนวย แพทย์บอกว่าปอดอักเสบแล้วให้ยามาฉัน อาการดีขึ้นเป็นลำดับ
ในระยะนั้นมา จะสังเกตเห็นว่าหลวงปู่ฉันอาหารได้น้อยลงกว่าเดิมมาก อาหารที่มีรสหวานจะฉันไม่ได้เลย พอฉันทีไรจะมีเสียงเรอ ออกมา ทำให้ฉันต่อไปอีกไม่ได้ ทำให้หลวงปู่ผอมลงทีละน้อย อีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ที่เท้ามีอาการบวม เมื่อใช้ยาทาและประคบ อาการบวมก็หายไประยะหนึ่ง เมื่อไปเช็คที่โรงพยาบาลแพทย์ให้ยามาฉันก็พอจะทุเลาลงไปบ้าง
ประมาณปลายเดือนมกราคม ๒๕๔๖ หลวงปู่ไปประเทศอินเดีย ๑๒ วัน เป็นโชคดีที่หลวงปู่ไม่มีอาการป่วยเลย พอประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ หลวงปู่มีอาการเป็นหวัดอีกครั้งหนึ่งจนเสียงแหบไม่มีเสียงพูดเลย ฉันยาน้ำบ้าง ยาเม็ดบ้างจึงพอมีเสียงพูดออกมาได้
หลายเดือนต่อมา อาการบวมที่เท้าของหลวงปู่ก็บวมขึ้นมาอีก ทำอย่างไรก็ไม่ยุบ ใช้ยาทั้งประคบ ทั้งทาและทั้งฉัน อาการบวมก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม แพทย์บอกว่าโปรตีนของหลวงปู่ต่ำ ไตเริ่มมีปัญหา เอายามาฉันอาการก็ไม่ดีขึ้น การฉันอาหารก็น้อยลงไปทุกที ได้แต่เคี้ยวอาหารแล้วก็คายทิ้ง กลืนลงไม่ได้ บางครั้งฉันไปได้นิดหน่อยก็มีลมเรอออกมา แล้วก็อาเจียนทำให้ฉันต่อไปไม่ได้อีก จึงทำให้หลวงปู่อ่อนเพลียมาก
ตอนเช้าวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๖ หลวงปู่ฉันไม่ได้เลย มีอาการเหนื่อย ไม่มีแรง จึงนิมนต์หลวงปู่เข้ารักษาที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เมื่อเช็คร่างกายแล้วแพทย์บอกว่าไตของหลวงปู่มีปัญหา มีเลือดค้าง มีแก๊สในท้องมาก แพทย์จึงถวายการรักษาโดยให้น้ำเกลือ ยาฉันและเพิ่มเลือดไปเรื่อยๆ จนเห็นชัดว่าอาการของหลวงปู่ดีขึ้นเป็นลำดับ คือสามารถเดินได้เองเป็นปกติ ฉันอาหารได้ทุกอย่าง พูดคุยสนทนาธรรมหรือสั่งสอนญาติโยมที่ไปกราบเยี่ยมได้
จนระยะเวลาผ่านไปประมาณ ๑๐ วัน อาการของหลวงปู่เริ่มผิดปกติอีก คือถ่ายออกมามีสีดำและปัสสาวะได้น้อยลง อาการบวมเริ่มมีมากขึ้นมาที่ตัว มือและแขน จนเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะที่ท้องจะบวมโตมาก
จากนั้นไม่กี่วัน หลวงปู่อาเจียนและถ่ายออกมาเป็นเลือดสีแดงสดเมื่อแพทย์ตรวจดูก็พบว่าในกระเพาะอาหารของหลวงปู่มีแผลหลายจุดซึ่งเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง โดยมีแผลหนึ่งที่ใหญ่มากทำให้เลือดไหลซึมออกมาตลอดเวลา
จากการที่หลวงปู่เสียเลือดมากทำให้อาการมีแต่ทรุดมาเป็นระยะๆ แพทย์ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะห้ามเลือดและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร แต่ก็รักษาได้ประมาณ ๒ - ๓ วัน อาการที่ถ่ายออกมาเป็นเลือดก็เหมือนเดิม ทำให้อาการหลวงปู่มีแต่ทรุดลงเรื่อยๆ จนต้องเข้ารักษาตัวที่ห้อง ไอ ซี ยู ประมาณปลายเดือน มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖ แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น
แพทย์จึงได้ขออนุญาตหลวงปู่ทำการผ่าตัดเพื่อเอาแผลในกระเพาะอาหารออกและได้ทำอาการห้ามเลือดให้หยุดไหล ซึ่งได้ในผลระยะประมาณหลายวัน อาการของหลวงปู่ทำท่าว่าจะดีขึ้น แต่แล้วเลือดที่กระเพาะอาหารก็ยังไหลซึมออกมาอีกเหมือนเดิม
แพทย์ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะถวายการรักษาหลวงปู่แต่อาการของหลวงปู่มีแต่ทรุดลงไปเรื่อยๆ ด้วยวัยชราและโรคภัยหลายอย่างเข้ามาแทรกซ้อน
หลวงปู่ละสังขารด้วยอาการสงบ ในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เวลา ๐๑.๑๐ น. ซึ่งตรงกับวันปวารณาเข้าพรรษา ณ ห้อง ไอ ซี ยู โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพฯ ยังความโศกเศร้า ความรักความเลื่อมใส ความอาลัยอาวรณ์ต่อองค์หลวงปู่ผู้เป็นที่รักและเคารพบูชาของศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนที่ต้องสูญเสียพระมหาเถระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบในศิษย์สายหลวงปู่มั่นไปอีกหนึ่งองค์
สิริรวมอายุของหลวงปู่ได้ ๘๒ ปี ๔ เดือน ๑๕ วัน ๕๓ พรรษา (เฉพาะญัตติธรรมยุติกนิกาย)
ลำดับในการจำพรรษาของหลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ
เริ่มแรกครั้งบวชเป็นพระมหานิกาย ได้ฉายาว่า "ขนฺติพโลภิกขุ"
พรรษาที่ ๑ - ๓ พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๘๗ วัดศรีรัตนาราม บ้านบัว อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ๓ ปี
พรรษาที่ ๔ - ๘ พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๒๔๙๒ วัดหนองหญ้าปล้อง (วัดสันติสังฆาราม) บ้านบัว อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ๕ ปี
ญัตติใหม่บวชเป็นพระในธรรมยุติกนิกาย ได้ฉายาว่า "กตปุญฺโญ"
พรรษาที่ ๑ - ๓ พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๔๙๕ วัดถ้ำพระสบาย อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ๓ ปี
พรรษาที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๙๖ วัดป่าเจริญธรรมสามัคคี อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ๑ ปี
พรรษาที่ ๕ - ๗ พ.ศ. ๒๔๙๗ - ๒๔๙๙ วัดถ้ำพระสบาย อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ๓ ปี
พรรษาที่ ๘ พ.ศ. ๒๕๐๐ วัดถ้ำผาจรุย ต.ป่าแงะ อ.ป่าแดด จ.เชียงราย ๑ ปี
พรรษาที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๐๑ วัดป่าสามัคคี อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ๑ ปี
พรรษาที่ ๑๐ - ๔๔ พ.ศ. ๒๕๐๒ - ๒๕๓๖ วัดป่าสำราญนิวาส อ.เกาะคา จ.ลำปาง ๓๔ ปี
พรรษาที่ ๔๕ - ๔๗ พ.ศ. ๒๕๓๗ - ๒๕๓๙ สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต อ.เมือง จ.ลำปาง ๓ ปี
พรรษาที่ ๔๘ - ๔๙ พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๑ วัดม่อนหินขาว อ.สบปราบ จ.ลำปาง ๒ ปี
พรรษาที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๔๒ สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต อ.เมือง จ.ลำปาง ๑ ปี
พรรษาที่ ๕๑ พ.ศ. ๒๕๔๓ วัดถ้ำพระสบาย อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ๑ ปี
พรรษาที่ ๕๒ พ.ศ. ๒๕๔๔ วัดคำประมง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ๑ ปี
พรรษาที่ ๕๓ พ.ศ. ๒๕๔๕ สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต อ.เมือง จ.ลำปาง ๑ ปี
วันปวารณาเข้าพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๔๖ วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เวลา ๐๑.๑๐ น. หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ มรณภาพด้วยอาการอันสงบ
รวมสิริพรรษา
๘ พรรษา มหานิกาย
|