อุบายธรรม
หลวงปู่ดู่เป็นผู้ที่มีอุบายธรรมลึกซึ้ง
สามารถขัดเกลาจิตใจคนอย่างค่อยเป็นค่อยไป
มิได้เร่งรัดเอาผล
เช่นครั้งหนึ่งมีนักเลงเหล้าติดตามเพื่อนซึ่งเป็น
ลูก ศิษย์มากราบนมัสการท่าน
สนทนากันได้สักพักหนึ่ง
เพื่อนที่เป็นลูกศิษย์
ก็ชักชวนเพื่อนนักเลงเหล้าให้สมาทานศีล ๕
พร้อมกับฝึกหัดปฏิบัติสมาธิภาวนา
นักเลงเหล้าผู้นั้นก็แย้งว่า
“จะมาให้ผมสมาทานศีลและปฏิบัติได้ยังไง
ก็ผมยังกินเหล้าเมายาอยู่นี่ครับ ”
หลวงปู่ดู่ท่านก็ตอบว่า “เอ็งจะกินก็กินไปซิ
ข้าไม่ว่า แต่ให้เอ็งปฏิบัติให้ข้าวันละ ๕
นาที ก็พอ” นักเลงเหล้าผู้นั้นเห็นว่านั่งสมาธิแค่วันละ๕
นาที ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร
จึงได้ตอบปากรับคำจากหลวงพ่อ
ด้วยความที่เป็นคนนิสัยทำอะไรทำจริง
ซื่อสัตย์ต่อตัวเองทำให้เขาสามารถปฏิบัติได้สม่ำเสมอเรื่อยมามิได้ขาดแม้แต่วันเดียวบางครั้งถึงขนาดงดไปกินเหล้ากับเพื่อนๆ
เพราะได้เวลาปฏิบัติจิตของเขาเริ่มเสพคุ้นกับความสุขสงบจากการที่จิตเป็นสมาธิ
ไม่ช้าไม่นานเขาก็สามารถเลิกเหล้าได้โดยไม่รู้ตัวด้วยอุบายธรรมที่น้อมนำมาจากหลวงปู่
ต่อมาเขาได้มีโอกาสมานมัสการท่านอีกครั้ง
ที่นี้หลวงปู่ดู่ท่านให้โอวาทว่า “ที่แกปฏิบัติอยู่
ให้รู้ว่าไม่ใช่เพื่อข้า แต่เพื่อตัวแกเอง” คำพูด
ของหลวงปู่ทำให้เขาเข้าใจอะไรมากขึ้น
ศรัทธาและความเพียร
ต่อการปฏิบัติก็มีมากขึ้นตามลำดับ
ถัดจากนั้นไม่กี่ปี
เขาผู้ที่อดีตเคยเป็นนักเลงเหล้าก็ละเพศฆราวาสเข้าสู่เพศบรรพชิตตั้งใจปฏิบัติธรรมเรื่อยมา
อีกครั้งหนึ่งมีชาวบ้านหาปลามานมัสการท่าน
และก่อนกลับท่านก็ให้เขาสมาทานศีล ๕
เขาเกิดตะขิดตะขวงใจกราบเรียนท่านว่า
“ผมไม่กล้าสมาทานศีล ๕
เพราะรู้ว่าประเดี๋ยวก็ต้องไปจับปลา
จับกุ้ง มันเป็นอาชีพของผมครับ ”
หลวงปู่ตอบเขาด้วยความเมตตาว่า
“แกจะรู้เหรอว่า แกจะตายเมื่อไหร่ ไม่แน่ว่าแกเดินออกไปจากกุฏิข้าแล้ว
อาจถูกงูกัดตายเสียกลางทางก่อนไปจับปลา
จับกุ้ง ก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อตอนนี้แกยังไม่ได้ทำบาปกรรมอะไร
ยังไงๆ ก็ให้มีศีลไว้ก่อน ถึงจะ
มีศีลขาดก็ยังดีกว่าไม่มี ศีล ”
หลวงปู่ดู่ท่านไม่เพียงพร่ำสอนให้บรรดาศิษย์ทั้งหลายเจริญบำเพ็ญ
คุณงามความดีเท่านั้น
หากแต่ยังเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญ
และระมัดระวังในการรักษาไว้
ซึ่งคุณงามความดีนั้นๆ ให้คงอยู่
รวมทั้งเจริญงอกงามขึ้นเรื่อยๆ ท่าน
มักจะพูดเตือนเสมอๆ
ว่าเมื่อปลูกต้นธรรมด้วยดีแล้ว
ก็ต้องคอยหมั่นระวังอย่าให้หนอนและแมลง
ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และความหลง
มากัดกินทำลายต้นธรรมที่อุตส่าห์ปลูกขึ้น
และอีกครั้งหนึ่งที่ท่านแสดงถึงแบบอย่างของความเป็นครูอาจารย์ที่ปราศจากทิฏฐิมานะและเปี่ยมด้วยอุบายธรรม
ก็คือครั้งที่มีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๒ คน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน
มากราบลาพร้อมกับเรียนให้ท่านทราบว่า
จะเดินทางไปพักค้างเพื่อปฏิบัติธรรมกับ
ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด จังหวัด อุดรธานี
หลวงปู่ดู่ท่านฟังแล้วก็ยกมือพนมขึ้นไหว้ไปทางข้างๆ
พร้อมกับพูดว่า “ข้าโมทนากับพวกแกด้วย
ตัวข้าไม่มีโอกาส...” ”ไม่มีเลยที่ท่านจะห้ามปราม
หรือแสดงอาการที่เรียกว่าหวงลูกศิษย์
ตรงกันข้ามมีแต่จะส่งเสริม สนับสนุน
ให้กำลังใจเพื่อให้ลูกศิษย์ของท่านขวนขวายในการปฏิบัติธรรมยิ่งๆ
ขึ้นไป
แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีลูกศิษย์มาเรียนให้ท่านทราบถึงครูอาจารย์นั้นองค์นี้ในลักษณะตื่นครูตื่นอาจารย์
ท่านก็จะปรามเพื่อวกเข้าสู่เจ้าตัว
โดยพูดเตือนสติว่า “ครูอาจารย์ดีๆ
แม้จะมีอยู่มาก แต่สำคัญที่ตัวแก
ต้องปฏิบัติให้จริง
สอนตัวเองให้มากนั่นแหละจึงจะดี” ”
หลวงปู่ดู่ท่านมีแนวทางการสอนธรรมะที่เรียบง่าย
ฟังง่ายชวนให้ติดตามฟัง
ท่านนำเอาสิ่งที่เข้าใจยากมาแสดงให้เข้าใจง่าย
เพราะท่านจะยกอุปมาอุปไมย ประกอบในการสอนธรรมะจึงทำให้ผู้ฟังเห็นภาพและเกิดความเข้าใจในธรรมที่ท่านนำมาแสดง
แม้ว่าท่านมักจะออกตัวว่าท่านเป็นพระบ้านนอกที่ไม่มีความรู้อะไร
แต่สำหรับบรรดาศิษย์ทั้งหลาย
คงไม่อาจปฏิเสธว่า
หลายครั้งที่ท่านสามารถพูดแทงเข้าไปถึงก้นบึ้งหัวใจของผู้ฟังทีเดียว
อีกประการหนึ่ง
ด้วยความที่ท่านมีรูปร่างลักษณะที่เป็นที่น่าเคารพ
เลื่อมใส
เมื่อใครได้มาพบเห็นท่านด้วยตนเอง
และถ้ายิ่งได้สนทนาธรรมกับท่านโดยตรงก็จะยิ่งเพิ่มความเคารพเลื่อมใสและศรัทธาในตัวท่านมากขึ้นเป็นทวีคูณ
หลวงปู่ดู่ท่านพูดถึงการประพฤติปฏิบัติของคนสมัยนี้ว่า
“คนเราทุกวันนี้ โลกเท่าแผ่นดิน
ธรรมเท่าปลายเข็ม
เรามัวพากันยุ่งอยู่กับโลกจนเหมือนลิงติดตัง เรื่องของโลก
เรื่องเละๆ เรื่องไม่มีที่สิ้นสุด
เราไปแก้ไขเขาไม่ได้จะต้องแก้ไขที่ตัวเราเอง
ตนของตนเตือนตนด้วยตนเอง”
ท่านได้อบรมสั่งสอนศิษย์โดยให้พยายามถือเอาเหตุการณ์ต่างๆ
ที่เกิดขึ้นมาเป็นครูสอนตนเองเสมอ
เช่นในหมู่คณะ หากมีผู้ใดประพฤติปฏิบัติดี
เจริญใ ธรรมปฏิบัติ
ท่านก็กล่าวชมและให้ถือเป็นแบบอย่าง
แต่ถ้ามีผู้ประพฤติผิด
ถูกท่านตำหนิติเตียน
ก็ให้น้อมเอาเหตุการณ์นั้นๆ
มาสอนตนทุกครั้งไป
ท่านไม่ได้ชมผู้ทำดีจนหลงลืมตน
และท่านไม่ได้ติเตียนผู้ทำผิดจนหมดกำลังใจ
แต่ถือเอาเหตุการณ์
เป็นเสมือนครูที่เป็นความจริง
แสดงเหตุผลให้เห็นธรรมที่แท้จริง
การสอนของท่านก็พิจารณาดูบุคคลด้วย
เช่น คนบางคนพูดให้ฟัง
เพียงอย่างเดียวไม่เข้าใจ
บางทีท่านก็ต้องทำให้เกิดความกลัว
เกิดความ ละอายบ้างถึงจะหยุด
เลิกละการกระทำที่ไม่ดีนั้นๆ ได้
หรือบางคนเป็นผู้มีอุปนิสัยเบาบางอยู่แล้วท่านก็สอนธรรมดา
การสอนธรรมะของท่าน
บางทีก็สอนให้กล้าบางทีก็สอนให้กลัวที่ว่าสอนให้กล้านั้นคือ
ให้กล้าในการทำความดี
กล้าในการประพฤติปฏิบัติเพื่อถอดถอนกิเลสออกจากใจ
ไม่ให้ตกเป็นทาสของกิเลสอยู่ร่ำไป
ส่วนที่สอนให้กลัวนั้น ท่านให้กลัวในการทำความชั่ว
ผิดศีลธรรม เป็นโทษ
ทำแล้วผู้อื่นเดือดร้อน
บางทีท่านก็สอนให้เชื่อ
คือให้เชื่อมั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ เชื่อในเรื่องกรรม
อย่างที่ท่านเคยกล่าวว่า “เชื่อไหมล่ะ
ถ้าเราเชื่อจริง ทำจริง มันก็เป็นของจริง ของจริงมีอยู่
แต่เรามันไม่เชื่อจริง จึงไม่เห็นของจริง
”
หลวงปู่ดู่ท่านสอนให้มีปฏิปทาสม่ำเสมอท่านว่า“ขยันก็ให้ทำขี้เกียจก็ให้ทำ
ถ้าวันไหนยังกินข้าวอยู่ก็ต้องทำวันไหนเลิกกินข้าวแล้วนั่นแหละจึงค่อยเลิกทำ”
การสอนของท่านนั้นมิได้เน้นแต่เพียงการนั่งหลับตาภาวนา
หากแต่หมายรวมไปถึงการกำหนดดู กำหนดรู้
และพิจารณาสิ่งต่างๆ
ในความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์
เป็นอนัตตาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ท่านชี้ให้เห็นถึงสังขารร่างกายที่มันเกิดมันตายอยู่ตลอดเวลา
ท่านว่า
เราวันนี้กับเราเมื่อตอนเป็นเด็กมันก็ไม่เหมือนเก่า
เราขณะนี้กับเราเมื่อวานก็ไม่เหมือนเก่า
จึงว่าเราเมื่อตอนเป็นเด็ก
หรือเราเมื่อวานมันได้ตายไปแล้ว
เรียกว่าร่างกายเรามันเกิด - ตาย
อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก มันเกิด
- ตาย อยู่ทุกขณะจิต
ท่านสอนให้บรรดาศิษย์เห็นจริงถึงความสำคัญของความทุกข์ยาก
ว่าเป็นสิ่งมีคุณค่าในโลก
ท่านจึงพูดบ่อยครั้งว่า
การที่เราประสบทุกข์
นั่นแสดงว่าเรามาถูกทางแล้ว
เพราะอาศัยทุกข์นั่นแหละ
จึงทำให้เราเกิดปัญญาขึ้นได้
|