รายละเอียด: พระครู พิศิษฐ์อรรถการ (คล้าย จนทวณโณ)
รูปเหมือนหล่อโบราณ “พ่อท่านคล้าย” วัดสวนขัน พิมพ์ก้น “อุ” ปี 2507 เป็น
1 ใน 5 ของพระชุดเบญจภาคีรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์ยอดนิยม อันประกอบด้วย
รูปเหมือนหล่อโบราณหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน
จ.พิจิตร, รูปเหมือนปั๊มและพระหล่อโบราณ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ
จ.นครสวรรค์,รูปเหมือนหล่อโบราณหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ รุ่นเลขใต้ฐาน
(หรือรุ่นเบตง จ.ยะลา), รูปเหมือนหล่อโบราณหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ
อ.หนองแค จ.สระบุรี และ รูปเหมือนหล่อโบราณ “พระพ่อท่านคล้าย” วัดสวนขัน
พิมพ์ก้น “อุ” ปี 2507 ที่เรียกว่า พิมพ์ก้น “อุ” มาจากมีตัวอักขระขอม
คำว่า “อุ” ติดมากับองค์พระ เป็นร่องลึกตรงใต้ฐาน
ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการตอกในภายหลังแต่อย่างใด
รูปเหมือนพ่อท่านคล้าย รุ่นนี้ทำพิธีเททองหล่อที่ วัดบางเดือน
อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อประมาณปี
2505 ออกให้เช่าบูชาเมื่อปี 2507 ที่ วัดกรูด
อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี และส่วนหนึ่ง
“พ่อท่านคล้าย” ได้เอาไปแจกที่วัดสวนขันในภายหลัง จำนวนสร้างไม่มากนัก
ประมาณไม่เกิน 1 พันองค์
เนื้อพระออกวรรณะเหลืองเป็นหลัก บางองค์ออกวรรณะเหลืองอมเขียว
ผิวนอกมักออกวรรณะน้ำตาลอมดำ ขนาดองค์พระ
กว้างประมาณ 2 ซม.เศษ สูงประมาณ 3 ซม.
พระรุ่นนี้วงการพระเครื่องแบ่งออกเป็น 2 พิมพ์หลัก คือ พิมพ์ต้อ
(นิยม) และ พิมพ์ชะลูด ซึ่งยังแบ่งย่อยๆ
ออกไปอีกหลายพิมพ์ อาทิ พิมพ์ต้อหน้าใหญ่, พิมพ์ต้อหน้าเล็ก,
พิมพ์ชะลูดหน้าแหงน ฯลฯ
ปัจจุบันองค์ที่หล่อได้คมชัดสวยสมบูรณ์ มีราคาค่านิยมเกินกว่าหลักแสนแล้ว
คาดว่าอนาคตอันใกล้ความนิยมจะสูงขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว
รูปเหมือนหล่อโบราณ “พ่อท่านคล้าย” พิมพ์ต้อ (นิยม) ที่นำมาให้ชมนี้
จัดเป็น “พระแท้องค์ครู”องค์แรกเป็นพระที่หล่อออกมาแบบผิวเดิมๆ
ไม่ผ่านการใช้มาก่อน
ที่เรียกว่า “ผิวมะระ” ในร่องตัว “อุ”ปรากฏขี้เบ้าให้เห็นอย่างชัดเจน
นับเป็น “พระแท้ดูง่าย” ที่ยึดเป็นแนวทางการศึกษาได้เลย
✨ #การเสกพระ
.. การเสกพระของหลวงปู่ (หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ) นั้น ยากที่จะมีใครรู้จริงว่าท่านใช้คาถาใด เพราะเวลาท่านเสกก็เห็นท่านนั่งเข้าที่ สงบนิ่ง ดูว่ามุ่งใช้จิตที่ทรงฌาน อธิษฐานจิตมากกว่าเรื่องของการบริกรรมคาถาใด ๆ เพราะจิตที่ "ได้" แล้ว ก็คงไม่ต้องอาศัยการบริกรรมช่วย เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวรับรองหลวงปู่เกษม เขมโก ว่า แค่ยกถาดบรรจุพระเครื่อง ผ่านหน้าหลวงปู่เกษม พระในถาดก็ศักดิ์สิทธิ์แล้ว เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมานั่งปรกนาน ๆ
พูดถึงการใช้คาถากำกับการอธิษฐานพระนั้น หลวงปู่สี วัดสะแก นับว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถพิเศษในการตรวจเช็คว่าพระเครื่องนั้น ๆ ครูบาอาจารย์ผู้อธิษฐาน ใช้คาถาใดกำกับการอธิษฐาน
หลวงน้าสายหยุดเล่าให้ฟังว่า เวลาลูกศิษย์หลวงปู่สีนำพระเครื่องครูบาอาจารย์ท่านอื่นมาให้หลวงปู่สีพิจารณา ท่านนำมากำดูแล้ว ไม่นานท่านก็จะสามารถบอกได้ว่า ครูบาอาจารย์ท่านนั้น ใช้คาถาใดกำกับ ...แต่และแล้ว หลวงปู่สีก็มาสะดุดกับวัตถุมงคลของพ่อท่านคล้าย ที่อยู่ทางใต้ หลวงปู่สีเอาพระของท่านพ่อคล้ายมากำอยู่หลายวัน ก็ยังไม่อาจทราบได้ ท่านรู้สึกแปลกใจมากและยังไม่สามารถพบคำตอบได้ จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านก็ได้คำตอบที่คลายความสงสัย นั่นก็คือ พระของพ่อท่านคล้ายนั้น มิได้ศักดิ์สิทธิ์เพราะคาถาใด ๆ เลย หากแต่ศักดิ์สิทธิ์เพราะท่านพูดว่าขอให้ศักดิ์สิทธิ์ เพียงเท่านั้นเอง โดยมิต้องใช้คาถาใด ๆ เลย ...สมแล้วที่ผู้คนพากันยกย่องท่านว่า "พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์"
สำหรับหลวงปู่ดู่ ดูเหมือนท่านจะมุ่งที่พลังสมาธิจิตเป็นสำคัญ เรียกว่ายังจิตของผู้เสกให้เข้าถึงฌานอันละเอียดก่อน แล้วจึงค่อยอธิษฐาน
อย่างไรก็ดี หลวงปู่ท่านก็กล่าวยกย่องว่าทุก ๆ คาถา ไม่ว่า ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน ล้วนแต่ดี ๆ ทั้งนั้น สามารถนำมาใช้ได้ทุก ๆ บททีเดียว