ครูบากองแก้ว ญาณวิชโย วัดต้นยางหลวง อ.สารภี จ.เชียงใหม่
ท่านถือกำเนิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๔๐ ตรงกับเดือน ๑๑ เหนือ
ขึ้น ๑๕ ค่ำ ณ บ้านร้อง ต.ป่าบง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เป็นบุตรคนที่ ๔
ในจำนวนทั้งหมด ๗ ในสกุล "อุตใจมา"
ครูบากองแก้ว เรียนจบชั้นประถมศึกษาที่วัดศรีสองเมือง อ.สารภี
โดยมี "ครูบาเผือก" เป็นผู้สอน ต่อมา พ.ศ.๒๔๕๔ อายุ ๑๔ ปี
ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดต้นยางหลวง สมัยครูบาจันทร์ เป็นเจ้าอาวาส
พ.ศ.๒๔๕๙
ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมี
"เจ้ากาบแก้ว ณ เชียงใหม่"
เป็นโยมอุปัฏฐาก มี
"ครูบาสิทธิ" วัดศรีคำชมพู
เป็นพระอุปัชฌาย์,
"พระคันธวงศ์" วัดศรีคำชมพู
เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ
"พระอินทรส" วัดไชยสถาน
เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้รับฉายาว่า "ญาณวิชโย"
เมื่ออุปสมบทแล้วได้ไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม
จนจบนักธรรมตรี
เพียงรูปเดียวของ อ.สารภี
ในสมัยนั้น
จากนั้นได้ไปศึกษาแนวทางปฏิบัติกรรมฐานที่
วัดป่าเหียง จ.ลำปาง
วัดนี้ในสมัยนั้นถือว่ามีชื่อเสียงที่สุดในด้านนี้
โดยมีพระอาจารย์เก่งๆ หลายรูป
จากนั้น "พระครูคัมภีร์ธรรม"
ได้นิมนต์ท่านกลับมาที่วัดต้นยางหลวง
เพื่อให้สอนหนังสือในโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่สร้างขึ้นมา
ท่านสอนนักธรรมอยู่หลายปี
จึงได้ลาออกจากตำแหน่ง
โดยท่านได้กลับมาศึกษาในแนวทางปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อไป
"ครูบากองแก้ว" ท่านเป็นหนึ่งในศิษย์ของ
"ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย"
ท่านเป็นศิษย์รุ่นแรกที่ได้ติดตามครูบาเจ้าศรีวิชัย บวชตั้งแต่เป็นสามเณร
เมื่อครั้งที่ "ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย"
เป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ
ครูบากองแก้วก็เป็นกำลังหลักในการร่วมสร้างทางด้วยรูปหนึ่ง ครูบากองแก้ว
เป็นพระที่อาวุโสกว่าครูบาชัยยะวงศา, ครูบาธรรมชัย, ครูบาดวงดี, ฯลฯ
นับได้ว่าครูบากองแก้ว เป็นพระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบรูปหนึ่ง
เป็นพระสมถะ โดยท่านจะฉันอาหารมื้อเดียวตลอดชีวิต
จนเป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนทั้งใน จ.เชียงใหม่
และทั่วประเทศ
พระเครื่องของท่านที่สร้างมีไม่กี่รุ่น "พระผงจตุรพร"
หรือที่ในพื้นที่เรียกว่า "พระผงหลังต้นไทร" จัดสร้างขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๐
โดยคณะกรรมการวัดและคณะศิษยานุศิษย์ได้ดำริที่จะหาทุนบูรณะอุโบสถวัดต้นยางหลวง
จึงได้อนุญาตให้จัดสร้างพระเครื่องรุ่นนี้ขึ้น
โดยท่านได้ปลุกเสกให้ตลอดไตรมาส
นอกจากนี้ยังได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษกใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
โดยได้นิมนต์พระคณาจารย์ล้านนาหลายรูปร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิตปลุกเสก
อาทิ ครูบาคำแสน คุณาลังการ
วัดป่าดอนมูล อ.สันกำแพง,
ครูบาพรหมจักร
วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง
จ.ลำพูน, ครูบาธรรมชัย
วัดทุ่งหลวง อ.แม่แตง,
ครูบาหล้า วัดป่าตึง
อ.สันกำแพง ฯลฯ
ในพิธีนั้น ครูบากองแก้ว
ได้ให้ลูกศิษย์นำปืนมีดและดาบมาในพิธีด้วย
โดยท่านบอกว่าจะได้สะกดอาวุธเหล่านี้
เพื่อให้พระเครื่องของท่านมีอานุภาพด้านป้องกันภัยครบทุกด้าน
ทุกครั้งที่ท่านแผ่เมตตาอธิษฐานจิตพระเครื่อง
ท่านจะอธิษฐานครอบคลุมไว้ทุกอย่าง ไม่ว่าแคล้วคลาด คงกระพัน เมตตามหานิยม
โชคลาภ หรือค้าขาย
สำหรับ "พระผงรูปเหมือน" ครูบากองแก้ว รุ่นนี้สร้างพร้อม
"เหรียญจตุรพร" ค่อนข้างจะหายาก เพราะสร้างจำนวนน้อย ประมาณ ๑,๑๐๐-๑,๒๐๐
องค์เท่านั้น เนื่องจากเป็น "พระผง" จึงหาสภาพสวยค่อนข้างยาก
บางองค์มีรอยราน เนื่องจากส่วนผสม บางองค์จะฝังชนวน "พระกริ่งชินบัญชร"
พระผงรุ่นนี้มีเนื้อหามวลสารที่ดีมากๆ
โดยเฉพาะมีส่วนผสมผงพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ผงตะไบกริ่งชินบัญชร
หลวงปู่ทิม ผงพรายกุมารหลวงปู่ทิม ชนวนพระกริ่งดังๆ อีกหลายองค์ เช่น
พระกริ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) พระกริ่งวัดราชบพิธ พระกริ่งหลวงปู่แหวน
ผงตะไบพระบูชาเก่าๆ เป็นต้น
สุดท้ายแห่งชีวิต เมื่อ "ครูบากองแก้ว ญาณวิชโย"
เริ่มเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายแล้ว
ก็มีผู้มานิมนต์ไปในงานพิธีต่างๆ มากมาย แม้แต่กรุงเทพฯ
ก็มีผู้เรียกร้องให้นิมนต์ท่านไปร่วมงานด้วยเสมอ ทำให้การพักผ่อนมีน้อยลง
ท่านจึงเริ่มมีอาการเจ็บป่วย อาพาธเล็กๆ น้อยๆ เสมอมา
เพราะความตรากตรำงานหนัก
กระทั่ง พ.ศ.๒๕๒๒ ท่านเกิดอาพาธหนักมาก
เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลลานนา แพทย์วินิจฉัยว่าท่านเป็นโรคขาดสารอาหาร
ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง
จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๒๔
ท่านก็มรณภาพด้วยอาการสงบ ที่โรงพยาบาลลานนา เวลา ๐๕.๐๐ น. รวมสิริอายุได้
๘๔ ปี พรรษา ๖๔
เนื่องจากผู้สร้างพระผงรุ่นนี้ เป็นศิษย์ชุดที่เคยรับใช้
"หลวงปู่ทิม อิสริโก" วัดละหารไร่ มาก่อน
ดังนั้นเนื้อหามวลสารจึงมีส่วนผสมของ "เนื้อผงพรายกุมาร"
ของหลวงปู่ทิมอยู่ด้วย
ทำให้ผู้ที่รู้ความเป็นมาของพระผงรุ่นนี้นิยมแสวงหากันมาก
ค่านิยมอยู่ที่หลักพันปลายจนถึงหลักหมื่นต้น...หากท่านผู้อ่านพบเห็นที่ไหนก็อย่าปล่อยให้หลุดมือไปเด็ดขาด